เตือนเกษตรกร ระวังโรคราน้ำค้างที่มาพร้อมอากาศเย็น

51

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง กะหล่ำ และข้าวโพดระวังโรคราน้ำค้างที่มาพร้อมอากาศเย็น ความชื้นสูง ฝนตก

กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคราน้ำค้าง (Downy mildew) ซึ่งเป็นโรคพืชที่พบการระบาดมากในช่วงอากาศเย็น ความชื้นสูง และฝนตกชุก เนื่องจากเชื้อราสาเหตุโรคสามารถแพร่ระบาดได้ดีโดย ลม น้ำฝน เครื่องมือทางการเกษตร การเคลื่อนย้ายพืชปลูก และจะเจริญได้ดีในสภาพอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ความชื้นในแปลงสูง หากเข้าทำลายพืชปลูกจะสร้างความเสียหายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต จะทำให้ผลผลิตพืชลดลง รวมถึงขนาดและคุณภาพลดลง หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น นอกจากนี้โรคราน้ำค้างยังสามารถเข้าทำลายพืชได้หลายชนิด เช่น พืชตระกูลแตง พืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด และข้าวโพด เป็นต้น ส่วนข้อสังเกตของโรคราน้ำค้าง พบว่าในช่วงเช้าที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง เมื่อพลิกดูใต้ใบพืชมักจะพบส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา เป็นเส้นใยสีขาวหรือเทาคล้ายปุยฝ้าย และลักษณะอาการโรคของพืชบางชนิด จะถูกจํากัดด้วยเส้นใบ จึงเห็นเป็นจุดแผลรูปสี่เหลี่ยม

สำหรับโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ เกิดจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกบนใบปรากฏแผลฉ่ำน้ำ แผลจะขยายตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นเป็นรูปเหลี่ยมเล็ก ๆ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อรา ลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาที่แผลบริเวณด้านใต้ใบ แผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว โรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก และบรอกโคลี เกิดจากเชื้อรา Peronospora parasitica มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกจะเห็นบริเวณด้านบนใบมีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นแผลสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลบริเวณด้านใต้ใบ ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง หากเป็นโรคในระยะกล้า จะทำให้ต้นกล้าแคระแกร็น หรือตาย โดยในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี หากโรครุนแรงก้านดอกจะยืดและดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง และโรคราน้ำค้างในข้าวโพด เกิดจาเชื้อรา Peronosclerospora sorghi ซึ่งโรคสามารถเกิดได้ตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก โดยพบจุดเล็ก ๆ สีเขียวฉ่ำน้ำบนใบอ่อน ต่อมาใบข้าวโพดมีสีเหลืองซีดโดยเฉพาะบริเวณยอด หรือใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่ ในเวลาเช้าที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง มักพบส่วนของเชื้อรา ลักษณะเป็นผงสีขาวจำนวนมากด้านใต้ใบ บางครั้งพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น ข้อถี่ ไม่มีฝัก หรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่จะไม่สมบูรณ์ เช่น มีเมล็ดจำนวนน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย โดยข้าวโพดในระยะเริ่มปลูกถึงอายุประมาณ 30 วัน จะอ่อนแอต่อโรคราน้ำค้าง

ด้านแนวทางการป้องกันและกำจัด กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำเกษตรกร ดังนี้ 1) ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค 2) ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม 3) ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง 4) กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี 5) หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรครุนแรง พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5 – 7 วัน และ 6) แปลงที่มีการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนทั้งนี้ หากเกษตรกรพบปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืชเข้าทำลาย สามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร