“สวนส้มยอดดอย” ท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัย สร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคมเกษตร และสิ่งแวดล้อม
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัย “สวนส้มยอดดอย” ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้บริโภค ได้รับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เป็นเครื่องการันตีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค เมื่อถึงฤดูหลังเก็บผลผลิตส้มเขียวหวานจะมีการตัดแต่งกิ่ง บำรุงต้น ส่วนผลส้มที่ติดมากับกิ่ง นำไปทำถ่านชาร์โคล ใบนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อนำกลับมาใช้ภายในสวน มีการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคและแมลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ทั้งยังรักษาระบบนิเวศภายในสวน เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ก่อเกิดความอย่างยั่งยืน ทั้งด้านรายได้ สุขภาพ และอาชีพของคนในชุมชน สวนมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับจากวิถีเกษตรกรสวนส้มเขียวหวานสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัย โดยสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริม และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ นายพิทยา ว่างจิตเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรแม่แรม เจ้าของสวนส้มยอดดอย และเกษตรกรรุ่นใหม่ (YFS) ภายใต้แนวคิด BCG Model บูรณาการเชิงพื้นที่ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัย เพิ่มมูลค่าสินค้า ก่อให้เกิดความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคมเกษตร และสิ่งแวดล้อม
เดิม นายพิทยา ว่างจิตเจริญ ประกอบอาชีพรับจ้างแรงงานเกษตร ปลูกข้าวไร่ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลูกผักบนเนื้อที่ของตนเอง จำนวน 30 ไร่ ประสบกับปัญหาราคาและตลาดที่ผันผวน จึงเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นไม้ผลเขตกึ่งร้อน ต้องการอากาศเย็นและแห้งในการยับยั้งการเจริญเติบโตทางกิ่งใบและกระตุ้นออกดอก และต้องการอากาศอบอุ่นชื้นในการติดผล เป็นไม้ผลที่มีความเหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของหมู่บ้าน ส่งผลให้ส้มมีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตเร็ว รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้น ปี 2563 สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ ตลาดที่เคยส่งผลผลิตปิด ล้งที่เคยเปิดรับซื้อก็ปิดตัวลงเช่นกัน ผลผลิตไม่มีที่จำหน่าย ต้องนำไปแจกจ่ายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ในปีต่อมาจึงวางแผนและเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายผลผลิตแนวใหม่ ทำอย่างไรถึงจะให้สวนส้มเขียวหวานกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้ จึงเริ่มทำการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและทำการตลาดออนไลน์ และการสร้างเครือข่ายทุกมิติ จึงเริ่มเปิดตัวสวนส้มเขียวหวาน ชื่อว่า “สวนส้มยอดดอย”ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 และจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรแม่แรม กับกรมส่งเสริมการเกษตรในกลางปี 2565 สวนส้มยอดดอย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัยแนวคิดใหม่ ผสานวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวสวนส้มเขียวหวานและวิถีชีวิตชนเผ่าม้ง ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี สร้างรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวให้ชุมชน ผลิตส้มเขียวหวานตามมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรถูกต้องและเหมาะสม (GAP) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ผลผลิตยังเก็บผลผลิตที่สุกแก่เต็มที่ทำให้มีรสชาติดีกว่าส้มเขียวหวานทั่วไป ทั้งยังปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ผู้ผลิตและสิ่งแวดล้อม จำหน่ายผลผลิตด้วยการเก็บผลส้มเขียวหวานในสวน และจำหน่ายผลผลิตบรรจุกล่องขนาดต่าง ๆ ทั้งที่สวนและทางออนไลน์
นอกจากนั้น สวนส้มยอดดอย ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรปลอดภัย มีฐานการเรียนรู้ จำนวน 6 ฐาน เพื่อให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมสวนได้ร่วมเรียนรู้ ดังนี้ ฐานเรียนรู้ที่ 1) การบรรยาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำการเกษตร การปลูกผักและไม้ผล ฐานเรียนรู้ที่ 2) การผลิตส้มปลอดภัย ชมสวนส้ม เก็บส้มผลสดได้เองจากในสวน ราคา 80 บาท/กิโลกรัม ฐานเรียนรู้ที่ 3) การผลิตขยายชีวภัณฑ์ เชื้อราไตรโคเดอร์มาและบิวเวอร์เรีย ฐานเรียนรู้ที่ 4) Zero waste การนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำถ่านชาร์โคลจากผลส้ม ฐานเรียนรู้ที่ 5) ผลิตปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยน้ำหมัก ฐานเรียนรู้ที่ 6) Café กาแฟ และน้ำส้มคั้นสด
การท่องเที่ยวสวนส้มยอดดอย ตั้งอยู่ที่ 119 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าบริการในการเข้าชมสวน ผู้ใหญ่ คนละ 99 บาท และเด็ก คนละ 69 บาท นักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้ง และมีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว high season ในเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลส้มแก่จัด มีรสชาติหวาน โดยทางสวนจะจัดเทศกาลเก็บส้ม มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเก็บผลสดได้เองจากต้น และสามารถซื้อกลับบ้านได้ในราคา 80 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีเครื่องแต่งกายแบบชาวสวน ชุดชนเผ่าให้นักท่องเที่ยวเช่าถ่ายรูปคู่กับธรรมชาติที่สวยงามภายในสวนติดต่อสอบถามได้ที่ นายพิทยา ว่างจิตเจริญ โทรศัพท์ 08-1180-0516 และ Facebook : สวนส้มยอดดอย yoddoy the orange farm
กรมส่งเสริมการเกษตร