กสก. Kick Off รับมือสถานการณ์ ไฟป่า และฝุ่นละออง

56

Kick Off ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร

รัฐบาลได้ตระหนักปัญหาฝุ่นละออง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเร่งผลักดันขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำแนวทางดังกล่าว มาผนวกรวมกับแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดเป็นมาตรการเพื่อขับเคลื่อนในภาคเกษตร

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่่อนนโยบายนี้โดยภาคการเกษตร เพื่อให้พี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดี มีสุข มีอากาศที่สะอาดหายใจ นอกจากนี้ยังต้องทำการส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทดแทนการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร เพื่อรองรับนโยบาย/มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น EUDR, CBAM และ Carbon Credit รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการลดการเผาในพื้นที่เกษตร เช่น ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ เช่น การเตรียมความพร้อม การประชาสัมพันธ์เชิงรุกนำไปปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) จากGISTDA ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตร ของประเทศไทยจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 พบจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกษตรในประเทศไทย จำนวน 3,255 จุด จากเดิมปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 3,647 จุด พบว่าลดลง จำนวน 392 จุด คิดเป็นร้อยละ 10.75 สำหรับผลการดำเนินงานบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปี 2567 รายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 69 เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับปี 2568 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบมาตรการและเห็นชอบแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายและวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฯ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายสำคัญนี้ร่วมกัน โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้ครอบคลุมทุกเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ยังเป็นภาคสมัครใจของเกษตร และประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกเวที เช่น การประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านในระดับท้องถิ่นของทุกพื้นที่ด้วย

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ของกรมส่งเสริมการเกษตร ดังนี้

1. จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกรายชนิดของพืชเกษตร ที่เสี่ยงต่อการเผาโดยเฉพาะ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน เพื่อนำไปสู่การวางแผนในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรที่เสี่ยงการเผาไหม้

2. จัดทำประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟ เช่น พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่สูง พื้นที่ที่ต้องการกำจัดศัตรูพืช ในช่วง ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2567 – 15 พฤษภาคม 2568 ผ่านระบบ Application FireD หรือ Burn Check พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเพื่อควบคุมกำกับดูแลการเผา เช่น ต้องมีการย่อยแปลงดำเนินการในช่วงกลางวันที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี การไม่เผาข้ามคืน ให้จัดทำแนวกันไฟโดยรอบและควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม เป็นต้น

3. ร่วมขับเคลื่อนมาตรการกำหนดสิทธิ์และประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรแบบไม่เผา หรือที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี โดยการผลิตพืชแบบเผา และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้ได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป เริ่มจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับการรับรองกระบวนการผลิตแบบไม่เผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 (PM 2.5 Free Plus) และเพิ่มสิทธิ์พิเศษต่อเอกชนที่รับซื้อสินค้าเกษตรแบบไม่เผา

4. จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทาง 3R โมเดล ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยเน้นหนักในพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้หรือที่มีสถิติการเผาไหม้ซ้ำซาก โดยใช้ข้อมูลเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม จุดความร้อน ร่องรอยการเผาไหม้ มาใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนงาน

5. จัดทำฐานข้อมูลการประเมินวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยใช้ฐานจากข้อมูลเดิมหรือฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร แยกรายเดือนเน้นในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2568 ใน 3 พืชสำคัญ คือ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

6. วิเคราะห์การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อุปสงค์ อุปทาน และศักยภาพ ในการบริหารจัดการตลาดห่วงโซ่อุปทาน ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงที่ไม่สามารถบริหารจัดการเศษวัสดุฯ ได้ พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือการขับเคลื่อนงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

7. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานและสรุปผลจากพื้นที่ที่สำเร็จในการบริหารจัดการในทุกเวทีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการประชุมในระดับหมู่บ้าน

8. ร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุน มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการฟางข้าวและตอซัง และการเก็บเกี่ยวผลผลิต การตัดต้นอ้อยหรืออัดใบอ้อย ส่งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลซึ่งจะช่วยลดการเผา การนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ในโรงงานอุตสาหกรรมและในโรงไฟฟ้า

9. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ สร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน โดยใช้ข้อมูลเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม จุดความร้อน ร่องรอยการเผาไหม้ปีที่ผ่านมา หรือจากการประเมินพื้นที่เสี่ยงที่ไม่สามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ โดยแบ่งการดำเนินงานให้สอดคล้องตามช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต

“กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงมุ่งสร้างจิตสำนึก ให้เกษตรกรตระหนักถึงข้อดีและข้อเสียของการเผาในพื้นที่เกษตร การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพื่อเป็นเครือข่ายในการร่วมขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ทดแทนการเผาให้เกิดความยั่งยืน และพร้อมเป็นเพื่อนคู่คิด และมิตรแท้ของเกษตรกรในทุกสถานการณ์ ที่เกิดประโยชน์สาธารณะ ที่มิได้คำนึงเพียงกาลปัจจุบัน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

กรมส่งเเสริมการเกษตร