เกษตรเขต 5 สงขลา หนุนศูนย์ ฯ ผึ้งชุมพร ผลิตนางพญาผึ้งสายพันธุ์ดี (Apis mellifera: ARDA1) ด้วยเทคนิคการผสมเทียมขั้นสูง ขยายผลสร้างรายได้สู่เกษตรกร
นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนและส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจสู่เกษตรกร โดยมีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์จากแมลงเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันเล็งเห็นว่า การเลี้ยงผึ้งโดยทั่วมักจะประสบปัญหาการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์นางพญาขาดความต่อเนื่อง มีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เพาะพันธุ์นางพญาผึ้งเองโดยคัดเลือกจากรังผึ้งที่มีผลผลิตสูง ประชากรหนาแน่น ในระยะยาวเกิดปัญหาเลือดชิด ประชากรผึ้งอ่อนแอ ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำผึ้งและผลผลิตลดลง จึงเกิดโครงการการขยายผลการเลี้ยงผึ้งพันธุ์บัคฟาสต์ (Apis mellifera : ARDA 1) สู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ปีงบประมาณ 2567 ต่อยอดมาจากโครงการ การพัฒนาสายพันธุ์ผึ้ง ที่มีพันธุกรรมที่เกิดจากการผสมผึ้งพันธุ์หลายสายพันธุ์ซึ่งรวบรวมผึ้งลักษณะดี จากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของไทย ใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมคัดเลือก พันธุกรรมพ่อ แม่พันธุ์ ที่มีลักษณะโดดเด่น และเก็บรักษารวบรวมผึ้งสายพันธุ์ดีไว้ เพื่อให้ได้ผึ้งสายพันธุ์ลูกผสมมีลักษณะเด่นหลายอย่าง”
ผึ้งบัคฟาสต์ไทย (Apis mellifera : ARDA1) เป็นผึ้งลูกผสมระหว่างผึ้งสายพันธุ์Apis mellifera ligustica และ Apis mellifera carnica เกิดจากการใช้เทคโนโลโลยีการผสมเทียม เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์และผลิตนางพญาผึ้งลูกผสมสายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตน้ำผึ้งสูง ไม่ดุร้าย ทนทานต่อโรคและไรปรสิต มีความเหมาะสมกับลักษณะการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรในไทย จากผลงานวิจัยของคณะผู้วิจัย โดยความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยพะเยา และบริษัท เชียงใหม่เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ในปีงบประมาณ 2563 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี
ศูนย์ผึ้งชุมพร ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านการเลี้ยงผึ้งอย่างต่อเนื่องโดยร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การผลิตนางพญาผึ้งสายพันธุ์ดี (Apis mellifera: ARDA1) ด้วยเทคนิคการผสมเทียมขั้นสูง” จาก Dr.Paul Page บริษัท Apinov ประเทศฝรั่งเศส ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ระหว่างวันที่ 7 – 11 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำองค์ความรู้มาขยายผลและส่งเสริมให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้ง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงานด้านวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งของประเทศไทย
สำหรับการขยายผลองค์ความรู้การผลิตนางพญาผึ้งสายพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ศูนย์ผึ้งชุมพรมีแผนการจัดการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรผู้สนใจในปี 2568 ณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมืองฯ จังหวัดชุมพร โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ในช่องทางเฟซบุ๊ก “ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร” หรือ โทร 077-658-669
กรมส่งเสริมการเกษตร