กสก. กำหนด 3 แนวทาง ขับเคลื่อนอาสาเกษตรหมู่บ้าน

59

กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด 3 แนวทาง ขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ปี68

นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายประชาชนในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร และให้บริการแก่เกษตรกรในระดับพื้นที่ผ่านการทำงานของเกษตรกรผู้นำจิตอาสาอย่างอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) โดยอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นภารกิจที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนพัฒนางาน พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 16 หน่วยงาน ที่ดำเนินงานด้านอาสาสมัครเกษตรในแต่ละสาขาที่หน่วยงานนั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ในปี พ.ศ. 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) มีประสิทธิภาพเป็นไปตามกรอบ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมของอาสาสมัครเกษตรตามมติคณะกรรมการนโยบายอาสาสมัครเกษตร (คน.กษ.) และสอดรับกับนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

1) การพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อบรมพัฒนาทักษะเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) โดยมุ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ใน 2 ด้าน ประกอบด้วย (1) ความรู้ ทักษะด้านวิชาการและเทคโนโลยีการเกษตร และ (2) ความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อให้ อกม. สามารถเป็นเกษตรกรผู้นำที่มี ทักษะ องค์ความรู้ด้านการเกษตรที่ดี ไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพของตนเอง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และประสบความสำเร็จในอาชีพ เป็นแบบอย่างและสามารถให้คำแนะนำที่ดีให้กับเกษตรกรได้ และมีข้อมูลด้านการเกษตร ที่ครอบคลุมรอบด้าน นำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และเป็นประโยชน์ ต่อการเผยแพร่ และให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดกิจกรรมเวทีเครือข่ายอาสาสมัครเกษตรเพื่อการเรียนรู้และบริหารจัดการความเสี่ยงภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รอบด้านทุกมิติจากผู้แทนภาคการเกษตร และนำมาวิเคราะห์ สร้างความตระหนักรู้ของชุมชนร่วมกัน เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยง เตรียมความพร้อมในการรับมือให้กับชุมชนเกษตร และนำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานตามบทบาทภารกิจของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ในฐานะที่ต้องเป็นผู้ช่วยเผยแพร่สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากภาครัฐสู่เกษตรกรในระดับพื้นที่ ให้สามารถปรับตัวทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้

3) การสร้างการรับรู้งานอาสาสมัครเกษตรสู่สาธารณชนและเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับอาสาสมัครเกษตร การสร้างการรับรู้และเชิดชูเกียรติเกษตรกรจิตอาสาในฐานะอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ต้นแบบ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้สาธารณชนได้รับทราบการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ผ่านการสื่อสารจากผู้แทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ต้นแบบ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ จนได้รับการยอมรับ และเป็นผู้มีจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนภาคการเกษตร สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้วยดีเสมอมา และยังเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้กับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านในการทำงานส่วนตัวและส่วนรวมต่อไป

“ทั้งนี้ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เริ่มต้นจากการคัดเลือกตามกระบวนการจากผู้แทนอาสาสมัครเกษตรสาขาต่าง ๆ ที่มีในหมู่บ้านนั้น ๆ จำนวน 1 คน/หมู่บ้าน เป็นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และแต่งตั้งคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรในระดับต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นกลไกการทำงานในส่วนของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานภาครัฐ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร