เกษตรฯ ก้าวข้ามเผา พร้อมลุยจัดการเศษวัสดุ ลดฝุ่น PM2.5 และก๊าซเรือนกระจก

ฝุ่นเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกปี ในอดีตการเผาวัสดุการเกษตรอาจไม่ส่งผลต่อสุขภาพเหมือนปัจจุบัน เนื่องจากว่าภาวะโลกร้อนไม่รุนแรง แต่ทุกวันนี้การเผาได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น หากสามารถจัดการได้ตั้งแต่ต้นตอแหล่งกำเนิด เพื่อให้ฝุ่น PM 2.5 และก๊าซเรือนกระจกลดลง นั่นคือวิธีการที่ดีที่สุด
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการ
ให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน
PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่่อนนโยบายนี้เกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอากาศ
ที่สะอาดหายใจ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่างานศึกษาวิจัยในอิตาลี พบว่า ฝุ่น PM 2.5 มีองค์ประกอบที่มาจากการเผาสารชีวมวล หรือเศษวัสดุทางการเกษตรเพียง 23% เท่านั้น ที่เหลือเป็นไฮโดรคาร์บอน ฟอสซิล การเผาไหม้ของยานยนต์ 11% เหลือ 66% เป็นละอองฝุ่นขนาดเล็กหรือละอองลอยในอากาศที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีหรือการเปลี่ยนรูปในบรรยากาศของก๊าซสารตั้งต้นบางประเภท เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ก๊าซแอมโมเนียและกลุ่มก๊าซสารอินทรีย์ระเหยง่ายอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นสารมลพิษในอากาศ ดังนั้น การเผาวัสดุการเกษตรของเกษตรกร จึงไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดของ PM2.5 ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดแผนการดำเนินงานไว้ 4 ส่วน คือ
1. การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อวางแผน การบริหารจัดการพื้นที่ที่เสี่ยงการเผา โดยรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูกและช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพืชที่เสี่ยงต่อการเผา คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และข้อมูลเกษตรกรในแต่ละจังหวัด แล้วใช้เทคโนโลยีโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) จุดความร้อน (Hotspot) เพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น และดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร
2. การป้องปราม โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สื่อสารให้ความรู้ ความตระหนัก ถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่เกษตรกรได้รับทราบ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อเกษตรกรเข้าใจแล้วปริมาณการเผาก็จะลดลง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะร่วมกับ GISTDA ค้นหาพื้นที่เผาไหม้ Burn Scar แล้วจะมาทาบกับแผนที่ความเสี่ยงที่ทำไว้ก่อนหน้านี้จะทำให้ทราบพื้นที่เผาระบุเกษตรกรผู้ดำเนินการได้
3. การดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการเผาจริงที่เกิดจากการกระทำของเกษตรกรจะบันทึกประวัติการเผาในพื้นที่เกษตรและเกษตรกรรายนั้น จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรทุกโครงการ ยกเว้นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 – 31 พฤษภาคม 2570
4. ให้ความรู้แนะนำการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ช่องทางและการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ โดยได้ร่วมกับภาคเอกชนใช้เครื่องจักรในการอัดก้อนฟาง รวมถึงร่วมกับบริษัทต่างๆ เพื่อย่อยสลายตอซัง เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเกษตรกร รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโต เพื่อลดการเกิดไนโตรเจนออกไซด์ ละอองลอยทุติยภูมิ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายพีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับระยะต่อไป ได้เตรียมการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ
เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ชีวมวล ตลอดจนโครงการสนับสนุนต้นทุนกิจกรรมเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ในปี 2568 ต่อไป สำหรับผลการจัดการเศษวัสดุ เมื่อปี 2567 ในรายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือน ก.พ.- เม.ย. มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็น 69% เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท
การไม่เผาเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามผ่าน เพราะมีทางออกที่ชัดว่ามีทางเลือก
ที่ดีกว่า ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับต้นทุนสุขภาพ จะมีต้นทุนที่สูงมาก ทุกภาคส่วนต้องหารือเพื่อหาทางออก ร่วมกันโดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อม ร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงชุมชนเพื่อวิเคราะห์ หาทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อจัดการปัญหาฝุ่น


กรมส่งเสริมการเกษตร