อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งข่าวดี ไทยมี Lab ตรวจ BY2 เพิ่มรวม 8 Lab ย้ำฤดูกาลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก Lab เพียงพอ ให้บริการมากกว่า 2,000 ตัวอย่างต่อวัน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางมาตรการตรวจเข้ม Set Zero สารปนเปื้อนในผลไม้ เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยผักผลไม้ไทยสร้างความมั่นใจตลาดส่งออก พร้อมสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมการตรวจรับรองสาร Basic Yellow 2 (BY2) ในทุเรียนสดของห้องปฏิบัติการทดสอบทุเรียนส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บตัวอย่าง การขนส่งตัวอย่าง วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานพิธีสารไทย – จีน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรขอแจ้งข่าวดีว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทดสอบสาร BY2 เพิ่มเติมอีก 2 แห่งที่มีความสามารถในการตรวจสอบและรายงานผลการทดสอบ ที่ได้ผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แล้ว ได้แก่ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ยูโรฟินส์ ฟู๊ด เทสติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่สามารถให้บริการทดสอบตัวอย่างเพิ่มเติมได้อีก 150 ตัวอย่างต่อวัน ทำให้ไทยมีห้องปฏิบัติการทดสอบสาร BY2 เพิ่มเติมจากเดิม 6 ห้องปฏิบัติการ (ทดสอบได้ 670 – 1,000 ตัวอย่างต่อวัน) รวมเป็น 8 ห้องปฏิบัติการ ซึ่งในขณะนี้รวมทดสอบตัวอย่างได้ 820 – 1,200 ตัวอย่างต่อวัน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 กรมวิชาการเกษตร ได้เชิญห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับจาก GACC และห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพมาประชุมเตรียมความพร้อม ในการสุ่มเก็บตัวอย่าง การทดสอบแคดเมียม และ BY2 ในทุเรียนสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีแผนการที่จะขยายความสามารถในการทดสอบเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก ซึ่งยืนยันว่าสามารถให้บริการทดสอบตัวอย่างตรวจสอบสาร BY2 และสารแคดเมียม ได้มากกว่า 2,000 ตัวอย่างต่อวัน อีกทั้งยังได้หารือเพิ่มเติมร่วมกับห้องปฏิบัติการทดสอบอื่น ๆ อาทิ ห้องปฏิบัติการของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบสาร BY2 สำหรับทุเรียนสดส่งออกไปจีนในช่วงฤดูกาลผลผลิตต่อไปด้วย


“กรมวิชาการเกษตร ขอให้ความมั่นใจในศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการเอกชน ในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกมาในปริมาณมาก ตั้งแต่กระบวนการเก็บตัวอย่าง การทดสอบในห้องปฏิบัติการ จนถึงการรับผลทดสอบ สามารถรองรับผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และประเด็นสำคัญต้องเป็นห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO และได้รับความเห็นชอบจาก GACC ประเทศจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวจีนถึงคุณภาพและความปลอดภัยของทุเรียนไทยที่มีคุณภาพ รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการการผลิตทุเรียน ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งในสวน ตลาด โรงคัดบรรจุ การสุ่มเก็บตัวอย่าง การเตรียมตัวอย่างห้องวิเคราะห์การรายงานผลการทดสอบ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว



กรมวิชาการเกษตร