บางระกำโมเดล ปี 63

1,661

ชลประทานโชว์ผลงาน “บางระกำโมเดล” ปี 63 สำเร็จตามเป้า

รองนายกรัฐมนตรีฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานบางระกำโมเดล ปี 2563 หลังเกษตรกรเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว กว่า 265,000 ไร่

วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามมาตรการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ ณ ท่อระบายน้ำคลองแยงมุม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำ-บางระกำ หรือ “โครงการบางระกำโมเดล”  มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว แต่เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปี ทำให้ในปีนี้ จำเป็นต้องลดพื้นที่เป้าหมายในการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกลงจาก 382,000 ไร่ เหลือ 265,000 ไร่ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2560 โดยจะจัดสรรน้ำประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม. ให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ ใช้น้ำทำนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563  ปัจจุบัน เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว (265,000 ไร่) รวมปริมาณน้ำที่ส่งให้พื้นที่ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 63 จนถึงปัจจุบัน 121.31 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563) น้อยกว่าแผนที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกในพื้นที่เพียงพอ เกษตรกรจึงใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคม 2563 หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมตอนบนในช่วงฤดูฝน ประมาณ 140,000 ไร่ สามารถรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 240 ล้าน ลบ.ม. เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก รวมไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม

กรมชลประทาน ข่าว