เกษตรฯ เเนะระวังไรสองจุดระบาดในสตรอว์เบอร์รี
ระยะนี้จะมีความชื้นในอากาศสูงและมีฝนตก กรมวิชาการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีเฝ้าระวังการเข้าทำลายของไรสองจุดในระยะที่สตรอว์เบอร์รีมีการผลิตไหล ให้เกษตรกรสังเกตสตรอว์เบอร์รีบริเวณใต้ใบจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยไรสองจุดดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ ทำให้ผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่มีลักษณะกร้าน ใต้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวใบด้านบนเหนือบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่จะเห็นเป็นจุดด่างขาวเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
กรณีที่การเข้าทำลายรุนแรงขึ้น จุดด่างขาวเล็กๆ จะค่อยๆ แผ่ติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ทั่วทั้งใบเหลืองซีด ใบร่วง อาจส่งผลทำให้ต้นสตรอว์เบอร์รีหยุดชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตลดลงได้ เมื่อตัวไรที่ทำลายอยู่บริเวณใต้ใบนี้มีประชากรหนาแน่นมากขึ้น ตัวไรจะสร้างใยสานโยงไปมาระหว่างใบและยอดของต้นพืชที่อาศัยอยู่ เพื่อรอให้ลมพัดพาตัวไรที่เกาะอยู่ตามเส้นใยลอยไปตกยังใบหรือยอดพืชต้นอื่นที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าต่อไป
แนวทางในการป้องกันกำจัด เกษตรกรต้องหมั่นทำความสะอาดและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรปลูกพืชผักแซมในแถวปลูกสตรอว์เบอร์รี เพราะจะเป็นการเพิ่มพืชอาศัยให้ไรสองจุด หากสำรวจพบการระบาดให้ใช้ชีววิธีในการปล่อยไรตัวห้ำ ตั้งแต่เริ่มพบไรสองจุดเข้าทำลายใต้ใบสตรอว์เบอร์รี (1-2 ตัวต่อใบย่อย) ในอัตรา 2-5 ตัวต่อต้น หรือประมาณ 5,300-13,300 ตัวต่อแปลงสตรอว์เบอร์รีพื้นที่ 1 งาน และควรปล่อยเป็นระยะๆ ห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่มีจำนวนไรสองจุดสูงเกินกว่า 5-20 ตัวต่อใบย่อย ให้ปล่อยไรตัวห้ำในอัตราสูง 30-40 ตัวต่อต้น จำนวน 3-4 ครั้ง ไรตัวห้ำจะสามารถควบคุมการระบาดของไรสองจุดได้
สำหรับในกรณีที่พบประชากรไรสองจุดยังเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารกำจัดไรในการป้องกันกำจัดไรสองจุดให้ได้ผลดี อาทิ สารเฟนไพรอกซิเมต 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ใช้สารนี้ได้ในกรณีที่มีการปล่อยไรตัวห้ำ ) หรือสารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (ควรพ่นในอัตราที่กำหนด และในเวลาที่แดดไม่จัด เพราะจะทำให้ใบอ่อนไหม้ได้) พ่นสารให้ทั่วต้น โดยเฉพาะใต้ใบแก่ และพ่นซ้ำตามความจำเป็น
กรมวิชาการเกษตร ข่าว