กางเเผนรับมือน้ำหลาก

761

กรมชลฯ กางเเผนรับมือน้ำหลากภาคอีสาน

วันนี้ (19 ส.ค. 63) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี  กรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เข้าร่วมประชุม เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5,6,7,8 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลำน้ำพอง สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกรมอุตินิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2563 จะเกิดฝนตกฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม) ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 3,568 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,956 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 1,289 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนการจัดสรรน้ำ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงมาตราการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี-แม่น้ำมูลว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดจราจรทางน้ำโดยเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ด้วยการเปิดบานระบายของเขื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่งและใช้เครื่องผลักดันน้ำเข้าไปเสริม รวมทั้งชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลโดยการลดบานระบายของเขื่อนราศีไศลลง ซึ่งจะควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบบริเวณด้านเหนือของเขื่อนราศีไศลด้วย หากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีปริมาณมาก จะทำการยกบานระบายทั้งหมดพ้นน้ำทันที เพื่อลดการเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่

ในส่วนของลุ่มน้ำยังที่มีฝนตกชุก นั้น กรมชลประทาน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ฤดูน้ำหลากปี 2563 ด้วยการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันอุทกภัยลุ่มน้ำยัง มีการเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย รวมไปถึงการจัดจราจรทางน้ำโดยการตัดยอดน้ำในลำน้ำยังลงสู่ลำห้วยวังหลวง และแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังได้วางแผนขุดลอกตะกอนทรายบริเวณ   ฝายบ้านท่าลาด รวมทั้งประสานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

แนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

  • เน้นการทำงานแบบ “เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้” คือ เข้าถึงและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เข้าพบปะประชาชนเพื่อติดตามสอบถามปัญหาในพื้นที่ หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการเข้าแก้ไขปัญหา
  • การสร้างเครือข่าย อาทิ กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน อาสาสมัครชลประทาน ให้ช่วยเป็นหู เป็นตา และเป็นกระบอกเสียง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่
  • การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • เตรียมพร้อมสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนบูรณาการการทำงานร่วมกันทางจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น
  • กำหนดให้สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ดำเนินการวัดระดับน้ำทุกจุด ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ในการตรวจวัดระดับน้ำหากเกิดวิกฤติ

กรมชลประทาน ข่าว