พืชเศรษฐกิจทางเลือก

3,292

‘แมคคาเดเมีย’ พืชเศรษฐกิจทางเลือกพื้นที่สูง แนวโน้มตลาดในอนาคตดี

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต แมคคาเดเมีย (Macadamia) พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจของจังหวัดเลย พร้อมด้วยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) พบว่า พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอภูเรือ นาแห้ว และด่านซ้าย ซึ่งมีพื้นที่ระดับความสูงกว่าน้ำทะเล 700-900 เมตร สภาพดินร่วนปนทราย อุดมด้วยอินทรีย์วัตถุ ทำให้แมคคาเดเมียสามารถเจริญเติบโตดีที่สุด โดยปี 2563 จังหวัดเลยมีเกษตรกรผู้ปลูกแมคคาเดเมียประมาณ 350 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 9,124 ไร่ (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย)

สำหรับสถานการณ์การผลิต พบว่า เกษตรกรจังหวัดเลยนิยมปลูกแมคคาเดเมียหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์เชียงใหม่ 1000 (HAES 508) พันธุ์เชียงใหม่ 400 (HAES 660) พันธุ์เชียงใหม่ 700 (HAES 741) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร และเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ระดับความสูงกว่าน้ำทะเล 700 เมตร ขึ้นไป สามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้ผล ผลิตสูง และมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งราคาต้นพันธุ์อยู่ที่ 80 -150 บาท/ต้น โดยเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 5 และผลผลิตจะออก 2 ช่วง คือ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม และมิถุนายน – กันยายน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 300 – 700 กิโลกรัม/ไร่ หรือเฉลี่ย 15 – 35 กิโลกรัม/ต้น ปัจจุบันต้นแมคคาเดเมียในจังหวัดเลยมีอายุสูงสุด 29 ปี และมีอายุเฉลี่ย 6 ปี

หากมองถึงสถานการณ์ด้านตลาด พบว่าเกษตรกรสามารถจำหน่ายแมคคาเดเมียในรูปของผลแห้ง และแบบแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ผลแห้งกะเทาะเปลือกเขียว ราคาเฉลี่ย 70 – 80 บาท/กิโลกรัม จำหน่ายโดยตรงให้กับกลุ่มวิสาหกิจหรือพ่อค้าคนกลาง เพื่อนำไปแปรรูปและจำหน่ายภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเอง 2) ผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน ได้แก่ แมคคาเดเมียอบทั้งเปลือก (กะลา) ราคา 400 – 500 บาท/กิโลกรัม 3) ผลิตภัณฑ์เพื่ออุปโภค ได้แก่ แมคคาเดเมียออยล์ ราคา 2,500 – 3,500 บาท/ลิตร และสบู่จากถ่านกะลาแมคคาเดเมีย ราคา 80 – 120 บาท/ก้อน ซึ่งประเภทผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน และอุปโภค เกษตรกรจะจำหน่ายผ่านร้านค้าในสวน ผ่านตัวแทนจำหน่าย และตลาดออนไลน์ อาทิ Shopee Facebook Fanpage โดยจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ไร่วิมุตติสุขภูเรือ MACLOEI และไร่ลองเลย เป็นต้น สำหรับแนวโน้มตลาดแมคคาเดเมียถือเป็นถั่วที่มีไขมันดีสูง (HDL) ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคา ซื้อขายค่อนข้างสูง ดังนั้น หากสินค้าแมคคาเดียเมียของจังหวัดเลย มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพตามหลักมาตรฐาน และมีจำนวนผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในอนาคตจะสามารถส่งออกตลาดต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและจังหวัดได้เป็นอย่างมาก

ด้านนางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวเสริมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์วิจัยพืชสวนเลย กรมวิชาการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแมคคาเดเมีย ตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชสวนเลย มีการผลิตและจำหน่ายต้นพันธุ์แมคคาเดเมียให้กับเกษตรกรผู้สนใจ รวมทั้งให้องค์ความรู้ด้านการปลูก การใช้เทคโนโลยีสำหรับแปรรูป อาทิ เครื่องกะเทาะเปลือกเขียว เครื่องกะเทาะเมล็ด ตู้อบเมล็ด เป็นต้น นอกจากนี้ จังหวัดเลยยังมีการรวมกลุ่มของเกษตรกร อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย อำเภอนาแห้ว วิสาหกิจชุมชนไร่ลองเลย อำเภอนาแห้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปแมคคาเดเมียภูเรือ ไร่วิมุตติสุข DOAE42 อำเภอภูเรือ เป็นต้น เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจ พอเพียงการปลูกและแปรรูปแมคคาเดเมียของจังหวัดเลย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตควรมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน รวมถึงการทำ Zero Waste เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกแมคคาเดเมียเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจข้อมูลด้านการผลิตแมคคาเดเมีย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย  โทร. 0-4203-9891 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว