ระวังหนอนหน้าแมว

853

ระวังหนอนหน้าแมวปาล์มน้ำมัน

ระยะนี้จะมีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เฝ้าระวังหนอนหน้าแมวระบาด สามารถพบหนอนหน้าแมวเข้าทำลายได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นปาล์มน้ำมัน ตัวหนอนหน้าแมวจะกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน หนอนตัวเล็กจะกัดกินผิวใบ เมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะกัดกินจนใบขาด หากระบาดรุนแรง ใบจะถูกกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ต้นปาล์มน้ำมันชะงักการเจริญเติบโต และต้นปาล์มน้ำมันจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน การระบาดของหนอนหน้าแมวในแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาการกำจัดนาน เนื่องจากหนอนหน้าแมวมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น ระยะหนอนและระยะดักแด้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดให้หมดในเวลาเดียวกันได้

หากพบการเข้าทำลายของหนอนหน้าแมว เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีกล การใช้ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับการใช้วิธีกล ให้เกษตรกรตัดทางใบปาล์มน้ำมันที่มีหนอนหรือจับผีเสื้อที่เกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบ หรือเก็บดักแด้ตามซอกโคนทางใบรอบต้นมาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใช้กับดักแสงไฟ black light หรือหลอดนีออนธรรมดาวางบนกะละมังพลาสติกที่บรรจุน้ำผสมผงซักฟอก โดยให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5-10 เซนติเมตร นำมาวางล่อผีเสื้อช่วงเวลา 18.00-19.00 น. ซึ่งสามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้

การใช้ชีววิธีในการกำจัด ให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) เช่น แบคโทสปิน ดับบลิวพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และควรพ่นเมื่อพบหนอนหน้าแมวเข้าทำลายบริเวณผิวใบ (หนอนวัยที่ 1-4) จะได้ผลดียิ่งขึ้น เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถทำลายกลุ่มหนอนผีเสื้อที่เข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมัน และไม่เป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์ ส่วนการใช้สารเคมี หากพบหนอนหน้าแมวเข้าทำลายเฉลี่ย 20 ตัวต่อทางใบ ให้พ่นสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

กรมวิชาการเกษตร ข่าว