เร่งซ่อมแซม

1,036

กรมชลฯ ตรวจพบจุดรั่วซึมเขื่อนห้วยยางแล้ว เร่งซ่อมแซม

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามการสำรวจและซ่อมแซมจุดที่เกิดน้ำซึมรอดใต้ฐานของเขื่อนห้วยยาง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว อย่างต่อเนื่องนั้น ขณะนี้ กรมชลประทาน โดย ดร.กัมปนาท ขวัญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมธรณี ได้นำทีมงานผู้เชี่ยวชาญ พร้อมนำเครื่องมือเข้าดำเนินการเจาะลงไปในชั้นผิวดินบริเวณจุดที่พบการรั่วซึม เพื่อนำชั้นดินขึ้นมาทำการทดสอบวิเคราะห์หาสาเหตุของการรั่วซึม พร้อมกำหนดหาวิธีการอุดรอยแยกใต้ฐานที่น้ำไหลออกมา ตามหลักสากลด้านความปลอดภัยเขื่อนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในทุกขั้นตอนจะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อาทิ ด้านความปลอดภัยเขื่อน ด้านปฐพีกลศาสตร์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ขอยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและความมั่นคงของตัวเขื่อนแต่อย่างใด และขอยืนยันเขื่อนห้วยยางและอาคารประกอบ ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี จึงขอให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนอย่าได้วิตกกังวล และขอให้รับฟังข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนห้วยยาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 49.92 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 83 % ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำผ่านอาคารชลประทานและกาลักน้ำรวม 1 ล้าน ลม.บ./วัน ทั้งนี้ จากการระบายน้ำดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง อาทิ บริเวณ กม.8+000 มีน้ำท่วมถนนเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร ระดับน้ำสูง 10 เซนติเมตร บริเวณ กม.14+910 น้ำท่วมถนนเป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร ระดับน้ำสูง 15 เซนติเมตร และบริเวณ กม.15 +820 น้ำท่วมถนนเป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ระดับน้ำสูง 10 เซนติเมตร ซึ่ง กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องทำการระบายน้ำออก เนื่องจากเป็นการลดแรงดันของน้ำที่ซึมรอดผ่านใต้ฐานของตัวเขื่อน และจะเข้าดำเนินการอุดรอยรั่วซึมต่อไป

ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งเตือนผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายอำเภอตาพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบโดยทั่วถึงกันก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานบ้านกุดเวียน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ข่าว