พืชทางเลือก จ.ตราด

1,768

สินค้าทางเลือก Future Crop ‘โกโก้ – กาแฟ’ สร้างรายได้เกษตรกร จ.ตราด

นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญในระดับพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) ซึ่ง สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top10) ของพื้นที่จังหวัดตราด เรียงลำดับตามมูลค่าสินค้ากลุ่มด้านพืช ดังนี้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ข้าวนาปี และมะพร้าว โดยปี 2562 เกษตรกรมีการปลูกกลุ่มพืชดังกล่าวในพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) ซึ่งพบว่า จากการผลิตยางพารา เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 425 บาท/ไร่/ปี ปาล์มน้ำมัน ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,415 บาท/ไร่/ปี สับปะรดโรงงาน ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 6,854 บาท/ไร่/ปี ข้าวนาปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,123 บาท/ไร่/ปี และมะพร้าว ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,937 บาท/ไร่/ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยของการผลิตยางพารามีมูลค่าต่ำที่สุด  

หากพิจารณาสินค้าทางเลือกให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม พบว่า เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดตราด ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าทางเลือกหลายชนิด โดย สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) ที่น่าสนใจคือ โกโก้ มีต้นทุนการผลิต 4,362 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2 และเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี) ต้นโกโก้มีอายุเฉลี่ยถึง 60 ปี นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวหลังจากให้ผลแล้วทุก 15 วัน ซึ่งต้นโกโก้ที่มีอายุเฉลี่ย 2-5 ปี จะให้ผลผลิตผลสดเฉลี่ย 889 กก./ไร่/ปี และถ้าอายุต้นเฉลี่ย 2-15 ปี จะให้ผลผลิตผลสดเฉลี่ยสูงถึง 1,593 กก./ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทน 16,447 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 12,085 บาท/ไร่/ปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 18.5 บาท/กก. ปัจจุบันมีหลายบริษัททำสัญญาซื้อในราคาประกันระยะยาวและมีบริษัทมารับซื้อผลผลิตของเกษตรกรถึงที่สวน ซึ่งในส่วนของจังหวัดตราดได้มีการส่งเสริมสินค้าโกโก้ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ได้สนับสนุนจุดเรียนรู้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ความยั่งยืน ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง ถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

สำหรับสินค้าทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่จังหวัดตราดสามารถผลิตได้ และเกษตรกรสามารถสร้างจุดแข็งและขยายผลต่อยอดเพิ่มมูลค่าในการแปรรูป คือ กาแฟ (โรบัสต้า) โดยมีต้นทุนการผลิต 10,910 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4) นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝนระยะเวลาเก็บเกี่ยว 150 – 180 วัน ให้ผลผลิตผลสดเฉลี่ย 1,561 กก./ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทน 23,415 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 12,505 บาท/ไร่/ปี ปัจจุบันราคารับซื้อเฉลี่ย 15 บาท/กก. ทั้งนี้ จุดเด่นของกาแฟ (โรบัสต้า) สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น เมล็ดกาแฟ และกากกาแฟ นอกจากทำเครื่องดื่มแล้ว สามารถทำชาจากดอกกาแฟได้ด้วย และปรุงแต่งขนมหวานต่าง ๆ กาแฟอัดเม็ด ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ และเครื่องสำอาง สำหรับการส่งเสริมสินค้ากาแฟภายในจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตราด ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อตามห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรสู่สินเชื่อ SME เกษตร และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ โดยจัดหาวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสามารถรวมกลุ่มกันผลิตและขายได้ และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สนับสนุนเรี่องการรวมกลุ่ม จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขนำตนต้นน้ำ ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดหลักในการรับซื้อผลผลิตกาแฟของจังหวัดตราด

ทั้งนี้ ในส่วนของ สศท.6 ได้จัดทำการศึกษาความเหมาะสมเชิงเศรษฐกิจของการปลูกกาแฟในสวนผลไม้ในจังหวัดตราด และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสินค้าทางเลือกทั้งโกโก้และกาแฟของจังหวัดตราด และจัดประชุมหารือการจัดทำสินค้าทางเลือกของภาคตะวันออก ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) เพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน หากท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการ เกษตรที่ 6 โทร. 038 351 261 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว