กรมประมงหนุน 250 ชุมชนประมงท้องถิ่น ฟื้นฟูทรัพยากร พัฒนาอาชีพ
กรมประมง สานต่อโครงการพัฒนาอาชีพ และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง ปีงบประมาณ 2564 ให้กับชุมชนประมงท้องถิ่น 250 ชุมชน จาก 22 จังหวัดชายทะเล ในปีที่ผ่านมา 144 ชุมชน ประสบผลสำเร็จในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่น สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น พัฒนาอาชีพประมงให้กับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้มั่นคง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ประเทศไทย มีจังหวัดที่ติดชายทะเล 22 จังหวัดจากทั้งหมดของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำการประมงเป็นหลักและทำการประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งหาอาหาร สร้างอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่อดีต แต่จากสถานการณ์ความต้องการบริโภคสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รูปแบบการทำประมงจึงมีการพัฒนารูปแบบการจับสัตว์น้ำ และเพิ่มจำนวนเครื่องมือเพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำจึงถูกจับขึ้นมาใช้อย่างไม่คุ้มค่า เกิดปัญหาทำการประมงเกินศักยภาพการผลิตตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยพ่อแม่พันธุ์ แหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชาวประมงพื้นบ้านโดยตรง ทำให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ลดลง จนเกิดปัญหาแย่งชิงการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก จำเป็นต้องออกเรือไปทำการประมงห่างไกลจากฝั่ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รายได้ลดลง และขาดความมั่นคงในอาชีพส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านโดยตรง
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในห้วงระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา นอกจากกรมประมงได้ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาในภาคการประมงไทยทั้งระบบแล้ว กรมประมงได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการชุมชนประมงของตนในการจัดการทรัพยากร การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มและจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 รวมทั้ง การช่วยเหลือและสนับสนุนในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่าง เข้มแข็ง ส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้
อธิบดีกรมประมง
โดยเมื่อปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 144 ชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน อาทิ
- กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ : โดยการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในชุมชน เช่น การสร้างซั้งกอ ซั้งเชือกสำหรับเป็นแหล่งอาศัย ที่หลบภัย ที่วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ธนาคารสัตว์น้ำชุมชน เป็นต้น
- การพัฒนาปรับปรุงการจับสัตว์น้ำ : โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงตามมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนและชนิดสัตว์น้ำ และการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าสัตว์น้ำ : กิจกรรมการเก็บรักษาและการแปรรูปสัตว์น้ำตามมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้บริโภคสัตว์น้ำที่มีคุณภาพ โดยกรมประมงได้ทำเชื่อมโยงตลาดเพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายผ่านองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมการท่องเที่ยว ภัตตาคารร้านอาหารผ่านระบบการซื้อขายออนไลน์ (Fisheries Shop) ตลอดจนการพัฒนากิจกรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Fisherman Village Resort) ให้กับชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีศักยภาพ จนกระทั่งวันนี้ ผลของการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถช่วยให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่นทั้ง 144 ชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
ซึ่งจากผลความสำเร็จที่ผ่านมา ในปีนี้ กรมประมงจึงได้ผลักดันโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงต่อไป โดยจะขยายโครงการไปยังชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านประมงชายฝั่งอีก 250 ชุมชน ซึ่งกรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่น ให้เกิดความมั่นคงของอาชีพประมงภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ได้เน้นย้ำว่าเกษตรกรพี่น้องชาวประมงจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กรมประมง ข่าว