ระวังแอนแทรคโนส

959

สวนพริกให้ระวังโรคแอนแทรคโนส

ในระยะที่มีอากาศเย็นลงและมีฝนตกบางพื้นที่ช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกพริกเตรียมรับมือการระบาดของโรคแอนแทรคโนส สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นพริก มักพบแสดงอาการบนผลพริกที่เริ่มสุกหรือก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี อาการเริ่มแรกจะพบจุดหรือแผลช้ำยุบตัวเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นวงรี หรือวงกลม บริเวณแผลพบส่วนของเชื้อราเป็นตุ่มสีดำขนาดเล็กเรียงเป็นวงซ้อนกัน กรณีที่สภาพอากาศชื้นจะเห็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อนที่เป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรค ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ผลเน่า ผลพริกที่เป็นโรคนี้จะโค้งงอบิดเบี้ยวคล้ายกุ้งแห้ง และจะร่วงหล่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคเริ่มระบาดให้เก็บผลพริกที่เป็นโรคนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรค และควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แปลงปลูกมีความชื้นสูงและมีสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค จากนั้น ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7-10 วัน

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตพริกแต่ละรุ่นแล้ว เกษตรกรควรเก็บเศษซากพืชที่หลงเหลือในแปลงปลูกนำไปทำลายทิ้งให้หมด และจัดระยะการปลูกพริกให้เหมาะสม ไม่ให้ปลูกชิดกันเกินไป ก่อนเพาะ ให้เกษตรกรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที อีกทั้งควรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าจากแหล่งที่ปราศจากโรค กรณีที่เก็บเมล็ดพันธุ์เอง เกษตรกรควรเลือกผลพริกที่ไม่เป็นโรค สำหรับในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรครุนแรง เกษตรกรควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของเชื้อราสาเหตุโรค

กรมวิชาการเกษตร ข่าว