ระวังโรคราน้ำค้าง

2,265

กรมวิชาการเกษตร เเนะเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตงให้ระวัง “โรคราน้ำค้าง

ในระยะที่มีลมแรงและอากาศเย็นลงช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักเขียว ฟักทอง ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ ให้หมั่นสังเกตการระบาดของ “โรคราน้ำค้าง” ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช มักพบแสดงอาการเริ่มแรกของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นมีแผลฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลจะขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบนตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นแผลเหลี่ยมเล็กเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

กรณีที่มีความชื้นสูงในตอนเช้า จะพบเส้นใยของเชื้อราเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลใต้ใบ จากนั้นแผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น ต้นพืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลและความหวานจะลดลง ถ้าต้นพืชเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็กและบิดเบี้ยว

สำหรับพื้นที่ที่พบอาการของโรคนี้ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือและหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการสะสมเชื้อราสาเหตุโรค อากาศถ่ายเทได้สะดวก และทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง อีกทั้ง ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชตระกูลแตง และไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป เพราะในแปลงปลูกจะเกิดความชื้นสูง

เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพจากแหล่งปลอดโรค และก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ส่วนแปลงที่เป็นโรค เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น รวมถึงให้กำจัดจับด้วงเต่าแตงที่เป็นพาหนะนำเชื้อราสาเหตุโรคมาทำลาย หรือพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดสารไดโนทีฟูแรน 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคเริ่มระบาด ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ+วาลิฟีนาเลท 60%+6% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5 – 7 วัน

กรมวิชาการเกษตร ข่าว