เสี่ยงเจอราดำ

1,017

กรมวิชาการเกษตร เเนะสวนมะม่วงเสี่ยงเจอโรคราดำ!

ระยะนี้จะเข้าสู่ช่วงที่มีอากาศเย็น กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังการระบาดของโรคราดำ มักพบคราบราสีดำติดตามส่วนต่างๆ ของต้น เช่น ใบ ยอด ช่อดอก และผล ซึ่งจะทำให้ช่อดอกบานช้า หรือบานผิดปกติ เหี่ยว และหลุดร่วงลงได้ บางครั้งอาจทำให้ไม่ติดผล ถ้าพบอาการของโรคราดำที่ผลมะม่วง จะทำให้ผลเหี่ยวและหลุดร่วงในที่สุด โดยมากจะพบการระบาดของโรคราดำในช่วงที่มีแมลงปากดูด อาทิ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง

หากพบการระบาดของโรคราดำ ให้เกษตรกรพ่นด้วยน้ำเปล่าล้างสารเหนียวที่แมลงปากดูดขับถ่ายไว้และคราบราดำ เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค เนื่องจากเชื้อราสาเหตุโรคจะเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูด ขับถ่ายไว้ คือ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง ดังนั้น เกษตรกรควรพ่นด้วยสารกำจัดแมลง กรณีพบเพลี้ยจักจั่น ให้พ่นด้วยสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หากพบเพลี้ยหอย ให้พ่นด้วยสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนถ้าพบเพลี้ยแป้ง ให้พ่นด้วยสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

กรมวิชาการเกษตร ข่าว