เดินหน้าเกษตรอินทรีย์

1,104

เดินหน้าส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ GAP ต่อเนื่อง ติวเข้มเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน 64 นี้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการบริโภคอาหารอย่างมีนัยสำคัญ ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดกระแสการบริโภคอาหารปลอดภัยทั้งในและต่างประเทศ “เกษตรอินทรีย์” เป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตจากการสังเคราะห์ ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนสังเคราะห์ และไม่ใช้พืชที่มีการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) มีการจัดการผลผลิต และแปรรูป เพื่อรักษาสภาพและคุณภาพเกษตรอินทรีย์ในทุกขั้นตอน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ และทักษะในการผลิตสินค้าเกษตร ให้มีคุณภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ทำให้มีอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดูแลสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง 

ในปี 2564 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการเกษตรอินทรีย์ขึ้น เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และเป็นวิทยากรหลักในการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้อง มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเข้าสู่ระยะปรับเปลี่ยนและเข้าสู่การรับรองตามระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ 58 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ 1. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปี 2564 โดยอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร 100 คน เพื่อเป็นวิทยากรหลักในการถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกร 2. อบรมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (รายใหม่) จำนวน 2,000 ราย หลักสูตร การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3. อบรมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และศึกษาดูงาน จำนวน 2,000 ราย หลักสูตร การผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเน้นหนักให้กับเกษตรกรที่ผ่านการอบรมเมื่อปี 2563 เพื่อผลักดันให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และจัดการศึกษาดูงานในแหล่งที่ประสบความสำเร็จ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ 4. ติดตามและประเมินแปลงเบื้องต้น จำนวน 4,000 แปลง ด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำเกษตรกรตามฤดูกาลผลิตพืชในแต่ละชนิดอย่างต่อเนื่อง และเน้นหนักในประเด็นที่เกษตรกรยังต้องปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น และ 5. สนับสนุนปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ ตามความต้องการและความจำเป็นของเกษตรกร จำนวน 4,000 แปลง เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ และท่อนพันธุ์อินทรีย์ เป็นต้น

“ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาเจ้าหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเกษตรกรและเป็นวิทยากร    ด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ GAP เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาเกษตรกร และสามารถถ่ายทอดความรู้ตามระบบคุณภาพและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ GAP ให้กับเกษตรกรเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวแล้วต้องมีความรู้ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นให้กับเกษตรกรได้ ซึ่งในปี 2564 นี้ ได้มีการวางเป้าหมายการดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว หากเกษตรกรท่านใดสนใจหรือประสงค์ที่จะผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ GAP สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2565 ต่อไป”

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว