เกษตรฯ เเนะเฝ้าระวังโรคใบจุดสีม่วงในหอมหัวใหญ่

ช่วงนี้มีอากาศเย็นตอนกลางคืนและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนตอนกลางวันแดดแรง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียม ให้เฝ้าระวังโรคใบจุดสีม่วง ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการเริ่มแรกจะพบแผลจุดเล็กฉ่ำน้ำ รูปร่างกลมหรือรีบนใบ หากแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นจุดแผลสีขาว ต่อมาแผลขยายออกตามความยาวของใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ เนื้อเยื่อยุบตัว แผลมีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลอมม่วง ตรงกลางแผลซีดจางกว่าเล็กน้อย มีแถบสีขาวหรือสีเหลืองส้มล้อมรอบแผล กรณีอากาศชื้นจะพบบนแผลมีผงสปอร์สีดำของเชื้อราสาเหตุโรค เมื่อมีหลายแผลขยายต่อกันจะทำให้ใบแห้ง ต้นโทรม ผลผลิตลดลง หากโรคมีการระบาดรุนแรง ใบจะแห้งตายหมด ทำให้ไม่ได้ผลผลิต ถ้าเชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายที่ส่วนหัว จะทำให้หัวเน่าและเก็บไว้ได้ไม่นาน

ทั้งนี้ ก่อนการปลูกหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียม เกษตรกรควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูก โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน และเลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค จากนั้นให้แช่หัวพันธุ์หรือต้นกล้าพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-20 นาที อีกทั้งในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่สกุลหอมและกระเทียมสลับหมุนเวียน

สำหรับในแปลงปลูกหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียมที่มีการระบาดของโรค ให้เกษตรกรหมั่นตรวจทำความสะอาดเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก และกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุของโรค หากพบโรค ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง หากโรคยังคงระบาดควรพ่นซ้ำทุก 5-7 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง และให้สลับพ่นด้วยสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค
กรมวิชาการเกษตร ข่าว