เตรียมรับมือภัยแล้ง

1,064

ประมงเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ปี 64 หวั่น!! พื้นที่แล้งซ้ำซากน้ำน้อย

กรมประมงขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง ปี 2564 ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 พร้อมสั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดลงพื้นที่เร่งสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกรเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้ง ด้านประมง พร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวัง หมั่นดูแลสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด

จากนโยบายการป้องกันปัญหาภัยแล้งของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2564 ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร และเตรียมการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่อาจได้รับผล กระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ได้กำหนดแผนนโยบายและมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 โดยมีแผนการเพาะปลูกทั่วประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด จำนวน 0.30 ล้านไร่ ด้านการจัดสรรน้ำได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภค – บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรมตามลำดับของความสำคัญ ในด้านประมงได้มอบหมายให้กรมประมงหามาตรการในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อเกษตรกร พร้อมส่งเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนพี่น้องเกษตรกรให้ลดปริมาณการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อปลา บ่อกุ้ง เขตโครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา และปรับขนาดการผลิตหรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และในระบบชลประทานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 30 เมษายน 2564

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้กรมประมงได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยจัดทำโครงการสร้างการรับรู้  เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งด้านประมง ปี 2563/64 เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยให้คำแนะนำข้อมูลทางวิชาการข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง  อย่างไรก็ตามในปี 2564 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยในบริเวณประเทศไทยตอนบนปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าปกติเล็กน้อย และมักจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลงและอาจไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ จากสภาวะดังกล่าวยังทำให้อุณหภูมิน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง
อธิบดีกรมประมง

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น  กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2563  ไว้ 3 ระยะ คือ 1. การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง  ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยในส่วนของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรมประมง ขอแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน

  1. ควรปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้รอเลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
  2. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล
  3. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ
  4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรงจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
  5. ควบคุมการใช้น้ำและปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ป้องกันการรั่วซึมหรือเร่งจัดทำร่มเงาให้บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
  6. จัดเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม และควรเลือกปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติและควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
  7. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ปริมาณที่เหมาะสม
  8. ลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
  9. ควรเพิ่มความสนใจสังเกตุอาการต่างๆของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดหากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและรักษาได้ทันท่วงที
  10. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
  11. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขในทันที ในขณะเดียวกันควรแจ้งให้กับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงทราบเพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดด้วยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณบ่อที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคที่ทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง

  1. ควรปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
  2. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล
  3. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในกระชัง
  4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรงจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
  5. ควบคุมการใช้น้ำและปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ป้องกันการรั่วซึมหรือเร่งจัดทำร่มเงาให้บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
  6. จัดเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติมและควรเลือกปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติและควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
  7. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ปริมาณที่เหมาะสม
  8. ลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
  9. ควรเพิ่มความสนใจสังเกตอาการต่างๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดหากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและรักษาได้ทันท่วงที
  10. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านได้ดีซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ
  11. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
  12. หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติให้รีบหาสาเหตุ และแก้ไขในทันที ในขณะเดียวกันควรแจ้งให้กับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดด้วยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วย ในบริเวณบ่อที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคที่ทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากช่วงฤดูแล้งอุณหภูมิอากาศและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยงโดยตรง ทำให้สัตว์น้ำเครียด อ่อนแอ และมีโอกาสได้รับเชื้อโรคได้ง่าย โดยโรคที่เกษตรกรควรเฝ้าระวังในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ โรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลา และหมัดปลา ฯลฯ โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอสคัส (Steptococcus sp.) แอโรโมแนส (Aeromonas hydrophila) วิบริโอ (Vibrio sp.) เป็นต้น แบคทีเรียดังกล่าวจัดเป็นกลุ่มแบคทีเรียนักฉวยโอกาส (Opportunistic bacteria)   ที่พบอาศัยในแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายสัตว์น้ำเมื่อสัตว์น้ำอ่อนแอ และสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วผ่านกระแสเลือดที่กระจายอยู่ทั่วตัว โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสัตว์น้ำ อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรควรชะลอหรือลดปริมาณสัตว์น้ำ ในการปล่อยลง กระชังเพื่อเลี้ยง ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย อีกทั้งควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด /สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ โทรศัพท์ 0 – 2562 – 0600 ในวันและเวลาราชการ

กรมประมง ข่าว