ขับเคลื่อนกัญชง-กัญชา

1,540

รมช.มนัญญา ขับเคลื่อนกัญชง-กัญชาจากแปลงวิจัยสู่ครัวเรือน 6 ต้น หลังสธ.ออกกฎกระทรวง

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตร ไปหารือกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง และกัญชา ภายหลังที่กฎกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะได้แนวปฏิบัติออกมาเพื่อให้ประชาชนที่สนใจจะปลูกรับทราบภายใต้การกำกับของ อย.  โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นพี่เลี้ยงทางด้านวิชาการ

“แนวปฏิบัติดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้า จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ การขออนุญาตปลูก การตรวจแปลง การตรวจสารยาในเมล็ด ไปจนถึงการจับคู่รับซื้อผลผลิตทั้งหมด จนถึงกระบวนการแปรรูป  เนื่องจากเป็นพืชควบคุม ทั้งนี้ จะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะปลูกสามารถยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตได้ที่คณะกรรมการระดับจังหวัด เพราะรัฐบาลต้องการให้นโยบายที่ออกมาสร้างอานิสงค์ทั้งการสร้างงานและการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ภายใต้กำกับของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” รมช. เกษตรฯ กล่าว

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติประกอบด้วย  1. การนำเข้าเมล็ดพันธุ์ และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตร จะเร่งดำเนินการประกาศให้เมล็ดพันธุ์กัญชา และกัญชงเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 โดยในระหว่างรอประกาศ จะใช้ระเบียบและกฎเกณฑ์ของ อย. ไปพรางก่อน เมื่อมีประกาศแล้ว ให้สองหน่วยงานบูรณาการในการรับรองใบอนุญาต 2. การขออนุญาตปลูกเป็นของ อย. ซึ่งจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัด พิจารณา และรวบรวมรายชื่อผู้ปลูกและหลักฐานการยื่นให้เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานในกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ดูแลตั้งแต่การเตรียมแปลง ตามเก็บเกี่ยว และส่งผลการตรวจประเมินความสามารถของผู้ปลูกให้ อย. และกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมตรวจสอบการนำเข้าการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย การควบคุมการผลิตต้นกล้า และคุณภาพต้นกล้าเพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามสายพันธุ์ 3. การทดสอบคุณภาพของกัญชา และกัญชง ผู้ปลูกและผู้ซื้อสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจเบื้องต้นได้เอง และกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้เอกชนตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของสารสกัดจากกัญชาและกัญชง เพื่อให้การบริการประชาชนทั่วถึง 4. การซื้อ-ขายกัญชา และกัญชง จะเป็นการซื้อ-ขายโดยตรง หรือระบบ Contract farming ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ปลูก รวมถึงการจัดตั้งตลาดกลางกัญชา ตลาดกลางกัญชง เป็นศูนย์กลางการซื้อ – ขายที่มีกำหนดมาตรฐานสินค้า การกำหนดราคากลาง และการซื้อขายที่เป็นธรรมโดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลังแนวปฏิบัติได้รับการเห็นชอบแล้วทั้ง 2 หน่วยงานจะมีการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของ รมช.เกษตรฯ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบตลอดห่วงโซการผลิต ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรปัจจุบันได้เร่งงานวิจัยพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทย โดยจะมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ในระยะต่อไป ขณะที่งานการรับรองพันธุ์ ตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ปัจจุบันกรมฯ ได้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 1 สายพันธุ์ คือ กัญชาพันธุ์อิสระ 01 เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล ที่บ้านโศกนาค ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์  โดยให้คำปรึกษาด้านการขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง การปลูก การดูแลรักษาเพื่อให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชาในระดับครัวเรือน และพร้อมสนับสนุนหาก สธ.จะขยายการดำเนินการไปทั่วประเทศ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมฯ ได้มีแผนการวิจัย และพัฒนาพืชกัญชา และกัญชง โดยการรวบรวมและศึกษาขยายพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์การค้าต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ดี และที่ศูนย์เชียงรายเป็นการทดลองปลูกในสภาพโรงเรือน การทดสอบสายพันธุ์คุณภาพเพื่อใช้ทางการแพทย์ การศึกษาการจำแนกกัญชาเพื่อรองรับการคุ้มครองพันธุ์พืช การวิจัยยีนและการแสดงออกของยีน  นอกจากนั้นได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์และทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชสกุลกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ที่วิสาหกิจชุมชนเพ-ลา เพลินและวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรไทยโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์

กรมวิชาการเกษตร ข่าว