ส่งออกล็อตแรก

676

พาณิชย์ จับมือเกษตรฯ การบินไทย เปิดตัวส่งออก “มะม่วงน้ำดอกไม้” ประเดิมล็อตแรกไปเกาหลีใต้

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานพันธมิตรเปิดตัวส่งออก “มะม่วงน้ำดอกไม้” เกรดพิเศษ ด้วยเที่ยวบินสายการบินไทยไปยังเกาหลีใต้เที่ยวบินแรก วันที่ 6 มีนาคมนี้ มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการผลไม้ไทย

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้า
แก้ปัญหาเร่งด่วนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อรองรับผลไม้ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ผ่านมาได้ประสานงานและเจรจาหารือกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท Profreight Group (ผู้ให้บริการด้าน
โลจิสติกส์) และบริษัท Swift จำกัด (ผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย) ในการขนส่งผลไม้ไทย เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด ทางอากาศไปยังประเทศเป้าหมาย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด เพิ่มมูลค่าการส่งออก และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับ
ผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศและสร้างความเชื่อมั่นของสินค้าไทย อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลจากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นร่วมกันในการจัดงานเปิดตัวการส่งออกผลไม้ไทยผ่านการขนส่งทางอากาศไปยังตลาดต่างประเทศ โดยนำร่องส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดพิเศษด้วยเที่ยวบินของสายการบินไทย ไปยังตลาดเกาหลีใต้ ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 เป็นเที่ยวบินแรก จำนวน 20 ตัน ณ เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยจะมีการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้ไปยังเกาหลีใต้รวม 13 เที่ยวๆ ละ 20 ตัน รวมทั้งสิ้น  260 ตัน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นร่วมกันในการจัดงานแถลงข่าวความร่วมมือในการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยผ่านการขนส่งทางอากาศไปยังตลาดต่างประเทศ ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าผลไม้ไทย และการผลักดันตามนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกให้กับผลไม้ไทย  
ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์) มอบหมายให้กรมฯ ดำเนินการ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมเพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้อย่างต่อเนื่องรวมกว่า
38 กิจกรรม อาทิ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจการค้า (Business Matching) ในตลาดต่างๆ ทั่วโลก การส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (In-Store Promotion) การจัดกิจกรรม Thai Fruits Golden Months ในภูมิภาคจีน การจับคู่เจรจาสินค้าอาหารฮาลาลและผัก ผลไม้สด ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ การจัดมหกรรมผลไม้ภาคตะวันออกในเดือนเมษายน และการจัดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX – ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2564   

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก โดยสินค้าเกษตรที่ผลิตต้องมีคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย และตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมแปลงให้มีความพร้อมสำหรับตรวจประเมินมาตรฐานแปลงเบื้องต้น ในปี 2564 มีเกษตรกรยื่นขอรับการรับรองคุณภาพไม้ผลทั้งหมด จำนวน 15,642 ราย 18,336 แปลง พื้นที่ 223,969 ไร่ และผ่านการประเมินในเบื้องต้น จำนวน 12,550 ราย 14,713 แปลง พื้นที่ 192,230 ไร่ เพื่อดำเนินการขอรับรองคุณภาพมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) จากกรมวิชาการเกษตรต่อไป

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาการปิดด่านชายแดนไม่สามารถดำเนินการ
ซื้อขายผลผลิตเกษตรได้โดยปกติ ประกอบกับมะม่วงเกรดคุณภาพดีที่ส่งออกไปเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็ประสบปัญหาค่าระวางเครื่องบินที่สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น การซื้อขายมะม่วงจึงเกิดการหดตัวเป็นอย่างมาก คาดว่าจะมีผลผลิตมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดไม่สามารถส่งออกได้ และเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทยที่จะเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จำนวน 21 จังหวัด พื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 621,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 743,700 ตัน โดยจะมีผลผลิตในฤดูที่กระจุกตัว (Peak) จำนวน 446,220 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 60 และเฝ้าระวังเดือนเมษายนที่จะมีผลผลิตออกมาก 223,110 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ทำให้ภาคการเกษตรต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ โดยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ดังนั้น การจัดงานเปิดตัวส่งออกผลไม้ไทยผ่านการขนส่งทางอากาศไปยังประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 20 ตันในเที่ยวบินแรกครั้งนี้ และจะมีการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้ไปยังเกาหลีใต้อีกต่อเนื่องรวม 13 เที่ยวบิน ๆ ละ 20 ตัน รวมทั้งสิ้น 260 ตัน จะช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อรองรับผลไม้ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์” ได้เป็นอย่างดี

สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ที่เน้นความสอดคล้องตามยุคสมัยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นในยุค 4.0 ตลอดจนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นช่องทางการซื้อขายออนไลน์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระจายได้สูง เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการขายแบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง เน้นการป้องกันพึงระวังตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวและการจัดการในสวนผลไม้จนถึงการขนส่งไปยังผู้บริโภคให้มีการปฏิบัติที่ปลอดภัย และได้วางแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ปัจจุบันเกาหลีอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแรด ทุเรียน มังคุด สับปะรด กล้วย และมะพร้าว ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากรสชาติ “หวาน หอม อร่อย” เป็นที่ถูกปากของคนเกาหลี ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้ คือ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ดังนั้น การส่งเสริมการผลิตและผลักดันมะม่วง
ส่งออก ผลผลิตต้องมีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัยจากโรค แมลงศัตรูพืช และปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ผลต้องสวยซึ่งเกษตรกรจะต้องมีการห่อผลและอบไอน้ำก่อนส่งออกผ่านความร้อน (Vapour Heat Treatment) ที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียสขึ้นไป ใช้เวลา 20 นาที เพื่อป้องกันหนอนแมลงวันผลไม้ ต้องปลูกในสวนผลไม้ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อส่งออกไปยังประเทศเกาหลี โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย และผ่านการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Plant Quarantine ของประเทศ       เกาหลี ซึ่งจะมีการตรวจสอบในระดับที่เข้มข้นพอ ๆ กับญี่ปุ่น สำหรับระยะเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออกของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เปอร์เซ็นต์ความแก่จะอยู่ที่ 80% เนื้อค่อนข้างละเอียด ผิวมีนวลเล็กน้อย สีเหลืองอ่อนขนาด
ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งออกอยู่ระหว่าง 250-550 กรัม/ผล แบ่งเป็น 4 ขนาด คือ ขนาด S น้ำหนัก 250-280 กรัม/ผล, ขนาด M น้ำหนัก 281-350 กรัม/ผล, ขนาด L น้ำหนัก 351-450 กรัม/ผล, ขนาด LL น้ำหนัก 451-550 กรัม/ผล 

ด้าน นายสุวิทย์ รัตนจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Profreight Group กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศเกิดปัญหาขาดแคลนระวางบรรทุกและทำให้ค่าระวางมีอัตราสูงขึ้นในปีที่ผ่านมาและมีผลกระทบต่อสินค้าเกษตรจำพวกผลไม้ในการส่งออกไปขายในต่างประเทศ ทางบริษัทได้ร่วมมือกับการบินไทยโดยเซ็นสัญญาเช่าเหมาลำ Boeing 777-300ER จำนวน 13 เที่ยวบิน จากกรุงเทพ ไปอินชอน โดยมีเที่ยวบินออกทุกวันเสาร์ และ รับสินค้าจากประเทศเกาหลีใต้กลับมายังประเทศไทย ทางบริษัทเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการมีระวางที่แน่นอนและราคาค่าขนส่ง
ที่เหมาะสมให้กับผู้ส่งออกในฤดูกาลนี้ ซึ่งทางบริษัทต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กรมส่งเสริมการเกษตร บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) และ บริษัท Swift จำกัด ที่ช่วยสนับสนุนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี

ด้านนายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยฯ ให้บริการส่งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ไปทั่วโลก เพื่อช่วยให้สินค้าจากผู้ผลิตและเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภคได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการดำเนินงานครั้งนี้บริษัทได้ลงนามสัญญากับบริษัท Profreight Group เพื่อจัดสรรการเช่าเหมาลำเที่ยวบิน ไปยังประเทศเกาหลีใต้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 13 เที่ยวบิน  ด้วยเที่ยวบิน TG 656 ออกจากกรุงเทพ เวลา 2330น. ถึง กรุงโซล เวลา 06.55 น. ซึ่งเที่ยวบิน วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2564 เป็นเที่ยวบินแรก นอกจากนี้ เครื่องบินที่ทำการบรรทุก สำหรับ เช่าเหมาลำ เป็น  77B หรือ Boeing 777-300ER  ขณะที่การบินไทยยังให้บริการ การขายแบบ Kilo Rate ในเส้นทางทั้งประเทศเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว