เดินหน้าแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม

932

กรมชลประทานเดินหน้าโครงการสำคัญแก้ปัญหาแล้ง-น้ำท่วมอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561–2580) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอในทุกกิจกรรมอย่างยั่งยืน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ อย่าง
ต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งแต่ละโครงการได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การจัดหาแก้มลิงรับน้ำหลาก หรืออุโมงค์ผันน้ำ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกกระบวนการ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเป็นสำคัญ

นายประพิศ จันทร์มา
อธิบดีกรมชลประทาน

กรมชลประทาน ได้วางโครงการไว้หลายโครงการด้วยกัน ทั้งที่กำลังก่อสร้างและอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นการผันน้ำจากลำน้ำแม่ยวมไปเติมให้เขื่อนภูมิพล ปีละ 1,800 ล้าน ลบ.ม. ที่อยู่ระหว่างการเสนอผลการศึกษาฯให้ สผ.พิจารณา  โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตงผ่านไปยังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปลงเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ (2559 – 2564) อยู่ระหว่างก่อสร้าง หากโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ปีละประมาณ 160 ล้านลบ.ม. รองรับการใช้น้ำในอนาคตที่เพิ่มขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า รองรับการขยายตัวของเขตเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมไปถึงการบรรเทาอุทกภัยเมืองเชียงใหม่ด้วย  

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ เพื่อรองรับน้ำหลากและเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ประกอบไปด้วยหลายโครงการด้วยกัน เช่น บางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก การเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าพระยา 12 ทุ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน การขุดลอกบึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ รวมไปถึงการทำแก้มลิงขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ มีโครงการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในหลายจังหวัด มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.) ในปลายคลองของแต่ละโครงการเพื่อกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา และรอบทะเลสาบสงขลา มีการจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุ่มดวง จ.สุราษฏร์ธานี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ตามศักยภาพของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด

กรมชลประทาน ข่าว