รั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่า

1,056

เกษตรฯ จัดงาน “รั้วรังผึ้ง ป้องกันช้างป่า” ส่งเสริมเลี้ยงผึ้งเพิ่มรายได้ ป้องกันช้างป่า

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรไทยที่มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใกล้บริเวณรอยต่อกับพื้นที่ป่าและภูเขาในจังหวัดเลย จันทบุรี ระยอง สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช
สุราษฏร์ธานี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร มักประสบปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากการขยายพื้นที่เพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและภูเขา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่
ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของช้างป่า จึงทำให้ช้างป่าต้องออกมาหาอาหารกินในบริเวณพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร อีกทั้งประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับช้างป่า สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของเกษตรกรด้วย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ศึกษาวิธีการที่จะทำให้คนอยู่
กับป่า และสัตว์ป่าได้อย่างกลมกลืน ในขณะเดียวกันก็พบว่า การเลี้ยงผึ้งมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลายประการ เช่น เกษตรกรมีผึ้งช่วยในการผสมเกสรช่วยเพิ่มผลผลิตพืช ทำให้เพิ่มขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และยังมีรายได้จากการเลี้ยงผึ้งอีกด้วย ซึ่งการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ติดกับป่า พบว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ ช่วยสร้างความสมดุลต่อระบบนิเวศในพื้นที่ป่าและภูเขา ทำให้เกษตรกรสามารถประกอบกอบอาชีพการเกษตรอย่างเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้และยั่งยืนต่อไป 

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่แนวทางในการทำการเกษตรที่กลมกลืนกับพื้นที่ป่า กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดงาน “รั้วรังผึ้ง ป้องกันช้างป่า” ภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเพื่อเพิ่มรายได้และป้องกันช้างป่าออกหาอาหารในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ขึ้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์หมู่บ้านสะพานสูง หมู่ 8 ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยภายในประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ การเสวนา เรื่องแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง เพื่อเป็นรั้วป้องกันช้างป่า
การสาธิตการเลี้ยงผึ้งโพรง ชันโรง การสลัดน้ำผึ้ง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เลือกซื้อเลือกชมผลิตภัณฑ์ผึ้ง และสินค้าเกษตรจากแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย

นอกจากนี้  นางกุลฤดี ยังกล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยให้แก่เกษตรกรผู้มีความเสี่ยง ตั้งแต่ ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.หลังสวน อ.สวี อ.ทุ่งตะโก และ อ.พะโต๊ะ จ. ชุมพร  รวมจำนวน 310 ราย จำนวนรังผึ้ง 1,240 รัง ส่วนผลจากการเลี้ยงผึ้งโพรงเพื่อใช้เป็นรั้วรังผึ้งนี้ สามารถลดความเสียหายจากช้างป่าลงมาทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของเกษตรกรและประชาชนได้ สร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรมีผลผลิตจากการเลี้ยงผึ้งโพรง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ง และเกสรผึ้ง ไว้จำหน่ายช่วยสร้างรายได้ รวมทั้งผึ้งยังช่วยผสมเกสรทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 20-80 เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย

ทั้งนี้ แนวคิดในการใช้รังผึ้งเป็นรั้วป้องกันช้างนั้น เป็นการนำความรู้ของชาวแซมบุรู ในประเทศเคนยา ที่ทำรั้วรังผึ้ง เพื่อขัดขวางเส้นทางเดินของช้างป่าหรือล้อมรอบแปลงปลูกพืชของเกษตรกรมาใช้ โดยคลื่นเสียงความถี่ต่ำจากการบินของผึ้งมีผลต่อพฤติกรรมการระแวดระวังภัยของช้าง และช้างป่าที่มีประสบการณ์ด้านลบหรือหวาดกลัวผึ้งจะถ่ายทอดพฤติกรรมคือการจดจำในทางลบดังกล่าวสู่ครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งผึ้งจะบินวนและต่อยรอบๆ ดวงตา ปลายงวง และบริเวณผิวหนังที่บางตรงส่วนหูของช้างป่า ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ช้างป่าเกิดความเจ็บปวดและรำคาญได้

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากเวียดนาม โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งแบ่งออกเป็น 1) เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ จำนวน 1,215 ราย เลี้ยงผึ้ง  จำนวน 353,724 รัง สามารถเก็บน้ำผึ้งจากดอกลำไย ลิ้นจี่ งา กาแฟ ทานตะวัน และสาบเสือ ได้มากกว่า 12,203 ตัน และส่งออกน้ำผึ้งไปยังไต้หวัน จีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอินโดนีเซีย จำนวนปีละ 7,922.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 617.53 ล้านบาท และ 2) เกษตรผู้เลี้ยงผึ้งโพรง จำนวน 23,922 ราย เลี้ยงผึ้งจำนวน 168,944 รัง โดยน้ำผึ้งโพรงจะมีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งพันธุ์ ซึ่งในกรณีที่ผึ้งเข้ารังร้อยละ 50 จะมีผลผลิตน้ำผึ้งโพรงประมาณ 591,304 กิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 262,538,976 บาทต่อปี

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว