เพลี้ยไฟพริกในมะม่วง

1,051

เกษตรฯ แนะปราบเพลี้ยไฟพริกในมะม่วง

ระยะนี้ต้นมะม่วงเริ่มเข้าสู่ช่วงแทงช่อดอกและพัฒนาเป็นผลอ่อน กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งช่วงนี้ ให้สังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟพริก มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อ และดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก และช่อดอกมะม่วง โดยเฉพาะฐานรองดอกและขั้วผลอ่อน ทำให้เซลล์บริเวณนั้นถูกทำลาย กรณีที่ระบาดไม่รุนแรง จะปรากฏแผลชัดเจนเป็นวงใกล้ขั้วผลมีสีเทาเงินเกือบดำหรือผลบิดเบี้ยว ถ้าทำลายรุนแรง ผิวของผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด ทำให้ผลผลิตมีราคาต่ำลง

ส่วนการเข้าทำลายในระยะติดดอก จะทำให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผล หรือทำให้ติดผลน้อย การเข้าทำลายบนยอดอ่อน จะทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับใบที่มีขนาดโตแล้ว มักพบการเข้าทำลายตามขอบใบ ทำให้ใบม้วนงอและปลายใบไหม้ การเข้าทำลายที่ยอด จะมีความรุนแรงจนทำให้ยอดแห้ง ไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก การเข้าทำลายที่ตา ช่อดอกจะบิดเบี้ยว หงิกงอ หรือติดผลน้อย ผลเล็กที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายอาจร่วงหล่นได้

หากพบการระบาดไม่มาก ให้เกษตรกรตัดส่วนที่เพลี้ยไฟพริกระบาดนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพราะเพลี้ยไฟพริกจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช กรณีระบาดรุนแรง ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะบาเมกติน 1.8% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เกษตรกรควรพ่นในระยะที่ต้นมะม่วงติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอก และระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร) หากพบเพลี้ยไฟพริกระบาดรุนแรง ให้พ่นซ้ำก่อนระยะดอกบาน หลีกเลี่ยงการพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร

กรมวิชาการเกษตร ข่าว