พัฒนาครบวงจร

744

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชู”กาแฟดอยสะเก็ด” ตัวอย่างสินค้าสหกรณ์ที่พัฒนาได้ครบวงจร

กาแฟดอยสะเก็ด กาแฟไทยๆ ที่สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ได้ร่วมมือกับสมาชิกผลิตตั้งแต่ปลูก แปรรูป และจำหน่าย ในชื่อ “กาแฟดอยสะเก็ด”  เป็นเหตุให้ไจก้าสนใจและจับมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการต่อยอด พัฒนาสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการผลิตกาแฟคุณภาพดี เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การสร้างตราสินค้า ตลอดจนการทำตลาด เพราะเชื่อมั่นว่ากาแฟของที่นี่รสชาติดีไม่แพ้ที่ใด

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ว่า สหกรณ์มีธุรกิจรวบรวมและแปรรูปกาแฟอาราบิก้าของสมาชิก จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “กาแฟดอยสะเก็ด” ถือเป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ ด้วยกระแสความนิยมบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้นในยุคปัจจุบัน ประกอบกับความพยายามของสหกรณ์ในการพัฒนาธุรกิจ กรมจึงได้สนับสนุนอุปกรณ์การผลิตเพื่อยกระดับให้สหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตกาแฟพรีเมี่ยม หรือกาแฟคุณภาพสูง สำหรับขยายตลาด และช่วยเหลือสมาชิกที่ปลูกกาแฟในพื้นที่ดอยสะเก็ดและขยายโอกาสทางตลาดให้มากขึ้น

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

นอกจากนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟจากญี่ปุ่นมาปฏิบัติงานในพื้นที่ คอยให้คำแนะนำตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว และแปรรูป ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2563 – 65 เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบการผลิตและขบวนการพัฒนาต่อยอดให้เป็นกาแฟเกรดพรีเมี่ยมออกสู่ตลาดในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการดึงอัตลักษณ์ของกาแฟที่นี่ และสร้างความต่างจากกาแฟทั่วไป โดยกรมฯ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือ ในปีที่ผ่านมาได้มอบเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อเครื่องกะเทาะเปลือกผลสดกาแฟเชอรี่และเครื่องคั่วกาแฟ เพื่อให้สหกรณ์นำไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจจำหน่ายกาแฟต่อไป

นายประหยัด เสนน้อย ผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 2,962 คน ทุนดำเนินงาน 215 ล้านบาท สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อ การรับฝากเงิน จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวบรวมผลผลิต สหกรณ์รับซื้อกาแฟกะลา และกาแฟเชอรี่จากสมาชิก นำมาแปรรูปผลผลิตเป็นกาแฟสาร กาแฟคั่วเมล็ด และกาแฟคั่วบด พื้นที่ดอยสะเก็ดมีสมาชิกปลูกกาแฟประมาณ 7,400 ไร่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 900- 1,500 เมตร ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ JICA ได้เข้ามาช่วยแนะนำเก็บฐานข้อมูล ตรวจสอบคุณภาพและความสุกของกาแฟก่อนเก็บเกี่ยว โดยช่วงปีแรกที่ร่วมกันศึกษาวิจัยระบบการผลิต พบว่ามีปัญหาระบบรากที่คดงอ ทำให้เจริญเติบโตไม่ดี จึงได้วางแผนร่วมกันและปรับปรุงขั้นตอนการเตรียมต้นกาแฟ เตรียมแปลง  คัดเลือกเกษตรกรนำร่อง  37 ราย เป็นเป้าหมายพัฒนาเบื้องต้น มีการลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำ เก็บข้อมูลรายเปลงตามระดับชั้นความสูง การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีกระบวนการผลิตกาแฟการเก็บเมล็ด การแปรรูป กำหนดทีมตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ความสุก บันทึกขั้นตอนการแปรรูป ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลา และตรวจสอบความสมบูรณ์ของเมล็ดและรสชาติกาแฟ Cup of Excellence

“จากการทดสอบรสชาติกาแฟของสมาชิกที่นำร่อง  37 ราย พบว่ามี 7 ราย มีคะแนน สูงกว่า 80 คะแนน และกาแฟที่ได้มีกลิ่นรสที่พิเศษ เช่น กลิ่นดอกไม้ป่า มะกรูด ซีตรัส  กลิ่นข้าวหอม พีช ชาดำ เป็นต้น  กลุ่มนี้จะสนับสนุนให้พัฒนากาแฟ Single Origin และการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และจะถอดรูปแบบการผลิตมาเป็น Best Practice กาแฟของสหกรณ์ ขณะนี้สหกรณ์ฯ ได้เริ่มนำมาทดลองทำตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากการทำ Single Origin ทำได้น้อยและยากสำหรับกาแฟทั่วไป สหกรณ์ได้จัดทำบรรจุภัณฑ์แยกเฉพาะรายคน แสดงรายละเอียดพื้นที่ความสูง และลักษณะเด่นของกาแฟของแต่ละคนพร้อมภาพของเกษตรกร รวมถึงจัดทำ QR-Code ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่กำหนดจัดอบรมหลักสูตร : การพัฒนามาตรฐาน “ระบบตามสอบสินค้าเกษตร” QR Trace on Cloud ร่วมกับ  มกอช. ในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ด้วย”

แต่ละปีสหกรณ์จะรวบรวมผลผลิตกาแฟเฉลี่ยปีละ 50 ตัน และแบ่งไว้  5 ตัน สำหรับนำมาแปรรูปเป็นกาแฟคั่วบดและจำหน่ายในแบรนด์ของดอยสะเก็ด ที่เหลือจะจำหน่ายให้กับร้านกาแฟทั่วไป และคู่ค้าของสหกรณ์ สำหรับราคารับซื้อกาแฟกะลาของสมาชิกจะเป็นแบบขั้นบันได โดยใช้คุณภาพเป็นตัวกำหนด ในฤดูกาลผลิต 2562/63 สมาชิกทั่วไปและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ฯ รับซื้อที่ราคา 110 บาท/กิโลกรัม ส่วนกาแฟกะลาที่มีลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลาผ่าน (Defect น้อยกว่า 7%) จะเพิ่มราคาให้อีก 3 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่ลักษณะทางกายภาพของกาแฟสาร (คะแนน Defect น้อยกว่า 10) และรสชาติ (คะแนนคัพปิ้ง ตามขั้นตอนการประเมิน Cup of Excellence สูงกว่า 80 คะแนน) จะเพิ่มราคาให้อีก 2 บาท เป็น115 บาท/กิโลกรัม และสิ้นปีสหกรณ์จะปันผลคืนให้สมาชิกอีก 2 บาท/กิโลกรัม

Mr. Masahiro Okada ผู้เชี่ยวชาญจาก JICA กล่าวว่า ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น JTEPA ซึ่งกรม
ส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น (Local to Local Linkage)  ซึ่งที่ไจก้าเลือกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเป้าหมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่เดียวในภาคเหนือที่เกษตรกรและสหกรณ์ทำด้วยตัวเองตลอดสายการผลิต ซึ่งความร่วมมือของสองประเทศก็เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและสหกรณ์ในการผลิตกาแฟคุณภาพดี 

นายเสถียร คำหล้า เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแบบ Single Origin  กล่าวว่า ตนเองปลูกกาแฟมา 7 ปี ในพื้นที่ 11 ไร่ ประมาณ  4 พันต้น ไร่ละประมาณ 400 ต้น ปลูกปีละ 2 พันต้นทยอยปลูก ให้ผลผลิตส่งสหกรณ์  900 กิโลกรัมส่งสหกรณ์ทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้าสหกรณ์ให้นักชิมกาแฟมาชิม ผลออกมาได้คะแนน  82.75  ที่สวนจะปลูกชาและกาแฟ และในสวนมีดอกก่อ ดอกไม้ขาว จึงได้กลิ่นโทนดอกไม้สีขาว (มะลิ) ชาดำ เมื่อได้เป็นกาแฟที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ก็พอใจที่ได้ผลผลผลิตที่ดี เพราะเดิมปลูกแต่ชาหรือใบเมี่ยง ปัจจุบันมีรายได้จากการปลูกกาแฟส่งขายสหกรณ์ปีละประมาณแสนกว่าบาท ยามว่างไปทำงานรับจ้างแต่ก็พอใจกับราคารับซื้อ คอกาแฟอยากทดลองชิมรสชาติกาแฟของสหกรณ์ดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ติดตามได้ผ่าน Facebook : ดอยสะเก็ดคอฟฟี่กรีน – Doisaketcoffeegreen หรือที่เบอร์ติดต่อ 065-3589585

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว