ระวังเพลี้ยไฟ

914

เกษตรฯ เตือนให้ระวังเพลี้ยไฟบุกสวนมังคุด

อากาศร้อนและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมังคุดเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไฟ มักพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นมังคุดเริ่มออกดอกและติดผลอ่อน จนถึงระยะแตกยอดอ่อนและใบอ่อน โดยจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ส่วนต่างๆ ของพืช สำหรับการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในระยะออกดอกและติดผลอ่อน อาจทำให้ดอกและผลอ่อนมังคุดร่วง ส่วนผลอ่อนมังคุดที่ไม่ร่วงเมื่อมีการพัฒนาผลโตขึ้น จะเห็นรอยทำลายของเพลี้ยไฟชัดเจน เนื่องจากผิวเปลือกมังคุดจะมีลักษณะขรุขระที่เรียกว่า ผิวขี้กลาก ทำให้ผลผลิตมังคุดมีคุณภาพต่ำ ส่วนการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในระยะแตกยอดอ่อนและใบอ่อนจะส่งผลทำให้ต้นมังคุดชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบหงิกงอ ใบไหม้ และต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์

แนวทางในการป้องกันและแก้ไขการระบาดของเพลี้ยไฟ ให้เกษตรกรสำรวจการระบาดของเพลี้ยไฟบนใบอ่อน ดอก และผลอ่อน หากพบเพลี้ยไฟระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นครั้งแรกก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ยมากกว่า 1 ตัวต่อดอก ขณะดอกบานให้พ่นซ้ำอีก 2 ครั้ง และหลังดอกบาน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 1 ตัวต่อ 4 ดอก (เฉลี่ย 0.25 ตัวต่อดอก) หรือ1 ตัวต่อยอดหรือผลอ่อน และควรพ่นสารฆ่าแมลงสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ หลีกเลี่ยงการพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟสามารถต้านทานสารฆ่าแมลงได้

กรมประมง ข่าว