สกัดทุเรียนอ่อน

999

สกัดทุเรียนอ่อนต่อเนื่อง เข้มมาตรการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นทุเรียนไทยปลอดโควิด-19

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าทุเรียนภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง เมื่อปลายเดือนมีนาคม ถึง ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ปี 2564 ทุเรียนให้ผลผลิต 575,542 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยร้อยละ 5 ขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว และทยอยออกสู่ตลาดหลายรุ่น โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในช่วงแรกจะเป็นทุเรียนพันธุ์เบา เช่น พันธุ์กระดุม พวงมณี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น (90 – 95 วัน) และจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุเก็บเกี่ยวยาวกว่า  (110 – 120 วัน) ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้  

สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยส่วนใหญ่เป็นแบบเหมาสวน และมีเกษตรกรบางส่วนที่ตัดผลผลิตแล้วนำไปจำหน่ายที่ล้งเอง โดยราคาผลผลิตเกรดส่งออก (เกรด AB) อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ทุเรียนมูซังคิงยังไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเฉพาะกลุ่มในราคาระหว่าง 450 – 650 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิตอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก มีการประกาศให้วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด อีกทั้งยังมีการตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจสอบทุเรียนอ่อน และเข้าตรวจล้ง ซึ่งหากพบการตัดทุเรียนอ่อน และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐาน จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุด จากการประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกันถึงแผนบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานของทุเรียน รวมทั้งการติดตามการดำเนินงานชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจสอบทุเรียนอ่อน (ณ วันที่ 10 เมษายน 2564) จากการสุ่มตรวจ พบว่า จันทบุรี พบทุเรียนอ่อน 30%  ระยอง พบทุเรียนอ่อน 37% และ ตราด ยังไม่พบทุเรียนอ่อน

“ปี 2564 นับเป็นปีแรกที่กระทรวงเกษตรฯ มีการประกาศวันทุเรียนแก่ คือวันที่ 10 เมษายน เพื่อให้เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองภาคตะวันออก โดยไม่แยกรายจังหวัด และกำหนดมาตรฐานทุเรียนแก่ จะต้องมีเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งมากกว่า 32 เปอร์เซ็นต์  โดยหลังวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา เกษตรกรสามารถที่จะตัดทุเรียนขายได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่า ภาครัฐก็ยังคงเฝ้าระวังการตัดทุเรียนอ่อนอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส เพื่อควบคุมป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจได้เข้าตรวจสอบโรงคัดบรรจุที่มีการรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ พบว่า มีการตัดทุเรียนอ่อนและมีการจับกุมดำเนินคดีแล้วหลายราย ดังนั้น ท่านที่พบเห็นการตัดและจำหน่ายทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ สามารถแจ้งได้ที่สารวัตรเกษตร หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือ​ร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด หรือแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่​ทุกแห่ง โดยผู้จำหน่ายทุเรียนอ่อนจะได้รับโทษตามกฎหมาย  คือ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมถึงการพักใช้และเพิกถอนใบรับรอง GAP ของเกษตรกร และใบรับรอง GMP ของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม
ขอให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมไปถึงโรงคัดบรรจุล้ง ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และให้ความร่วมมือไม่ตัดทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพจำหน่าย ซึ่งนอกจากจะทำให้ขายได้ราคาดีแล้ว ยังเป็นการสร้างตลาดที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกด้วย” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

ทั้งนี้ ยังได้เน้นมาตรการควบคุมการส่งออกทุเรียนปลอดเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผลผลิตทุเรียนไทยซึ่งมีมูลค่าซื้อขายทั้งในและต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ด้วย 3 มาตรการที่ครอบคลุม คือ มาตรการสำหรับเกษตรกรชาวสวน มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ สถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร (ผลไม้) ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อต้นทางจากสวนทุเรียน จนถึงระบบขนส่ง อีกทั้งทางสมาคมทุเรียนไทยยังได้ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ได้จัดทำคลิปวีดีโอทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน และเอกสารประชาสัมพันธ์ภาษาเกาหลี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผลผลิตทุเรียนไทยต่อประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย โดยในส่วนของผู้บริโภคในประเทศ ยังสามารถที่จะเลือกซื้อทุเรียน รวมทั้งผลไม้ตามฤดูกาลคุณภาพดีและปลอดเชื้อได้อย่างสะดวกสบาย ผ่านแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ อาทิ ไปรษณีย์ไทย www.thailandpostmart.com และมีบริการส่งผลไม้สดถึงบ้าน ในราคาเหมาจ่ายตามน้ำหนัก เริ่มต้นไม่เกิน 3 กก. ราคาเพียง 50 บาท รองรับน้ำหนักสูงสุดถึง 20 กก. รวมถึงโปรโมชั่นรับเทศกาลผลไม้ ส่งผลไม้ด้วยบริการ EMS จะได้รับส่วนลด 20% ของค่าบริการแบบเหมาจ่ายตามพิกัดน้ำหนัก ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2564 อีกด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว