หนุนรับรอง GAP เกลือ

747

เกษตรฯ หนุนเกษตรกรขอรับรองมาตรฐาน GAP เกลือ ยกระดับเกลือทะเลไทย

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาชีพทำนาเกลือเพื่อผลิตเกลือทะเลใช้ประโยชน์มานานแล้ว โดยแหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตกที่ตั้งอยู่ติดกับทะเล แต่เนื่องจากการทำนาเกลือทะเลต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ปัจจุบันเกษตรกรจึงต้องเช่าที่จากเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เกษตรกรไม่สามารถควบคุมการผลิตเกลือได้ตามมาตรฐาน อีกทั้งมีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีเกลือสินเธาว์ และเกลือนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด เกษตรกรผู้ทำนาเกลือจึงประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ราคาเกลือทะเลตกต่ำ มีภาระหนี้สินมาก ทำให้ขาดแรงจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดอาชีพนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองอาชีพการทำนาเกลือทะเลให้มีความมั่นคงยั่งยืน และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย (พ.ศ. 2560 – 2564)  โดยมีวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ 5 ประการ ได้แก่ 1) เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน 2) เกลือทะเลมีตลาดเพิ่มขึ้น 3) เกลือทะเลมีคุณภาพและได้มาตรฐาน 4) เกษตรกรเกลือทะเลมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน 5) ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการที่ถูกต้องและทันสมัย ประกอบกับในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องเกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป สำหรับใช้ในการส่งเสริมสินค้าเกลือทะเลให้ได้มาตรฐาน ได้คุณภาพและปลอดภัย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือสามารถพัฒนาการประกอบอาชีพการทำนาเกลือให้ได้รับมาตรฐานสากลได้ โดยการส่งเสริมความรู้ ทักษะ และเตรียมความพร้อมทั้งในด้านกระบวนการผลิต และขั้นตอนการขอรับมาตรฐาน GAP

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) ระบุข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล ประกอบด้วย 1) สถานที่ทำนาเกลือทะเล ต้องไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัย และคุณภาพของเกลือทะเลธรรมชาติ หรือมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อน เช่น ก่อนจะนำน้ำทะเลเข้าพักน้ำเพื่อผลิตเกลือ เกษตรกรควรขอผลการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเลในพื้นที่ทำนาเกลือของตนจากกรมประมง เพื่อให้ได้น้ำทะเลที่มีค่าความปลอดภัย เป็นต้น 2) การพักน้ำทะเลที่มีคุณภาพมักเป็นน้ำทะเลในช่วงกันยายน-ตุลาคม 3) การปฏิบัติในกระบวนการผลิตเกลือทะเลธรรมชาติ ควรมีมาตรการป้องกัน/กำจัด เช่น การกั้นแปลงด้วยตาข่าย เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยง สัตว์พาหะเข้ามาในพื้นที่ในช่วงเก็บเกี่ยว หรือกำจัดขยะในแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ 4) การปฏิบัติต่อผลิตผลเกลือทะเลธรรมชาติและการเก็บรักษาอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น มีบันทึกที่ระบุวิธีการขนย้าย พัก/เก็บรักษา สถานที่ก็บรักษาเกลือทะเล ต้องสามารถป้องกันสัตว์เลี้ยงสัตว์พาหะ สิ่งปนเปื้อนต่างๆ ได้ อุปกรณ์/เครื่องมือที่ใช้ในการขนย้ายต้องสะอาด/มีความเหมาะสม/เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนแก่ผลิตผล เป็นต้น 5) เครื่องมือและอุปกรณ์ ผู้ใช้งานจะต้องมีความรู้ในการใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม มีการเก็บรักษาดูแลอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ 6) การจัดการการล้าง/โม่/บด (ถ้ามี) และการบรรจุ ต้องคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย และเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่น 7) การควบคุมสัตว์พาหะนำเชื้อ มีมุ้ง ม่าน แนวกั้น หรือล้อมรั้ว เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะบริเวณเก็บเกี่ยว บรรจุ และเก็บรักษาเกลือทะเล 8) สุขลักษณะส่วนบุคคล ต้องไม่เป็นผู้ป่วยโรคติดต่อที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิตอาหาร จึงควรมีบันทึก/หลักฐานการฝึกอบรม/ประชุมชี้แจงความรู้เรื่องสุขลักษณะที่ควรปฏิบัติ เช่นการแต่งกาย การทำความสะอาด พฤติกรรมการผลิตที่ดี และ 9) ระบบเอกสารและบันทึกข้อมูล ช่วยส่งเสริมความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของระบบควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหาร

ในส่วนของลักษณะและส่วนประกอบเกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) กำหนดส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ปริมาณโซเดียมคลอไรด์ไม่น้อยกว่า 94% (น้ำหนักแห้ง) ในเกลือขาว เกลือกลาง เกลือป่น และดอกเกลือ และปริมาณโซเดียมคลอไรด์ไม่น้อยกว่า 75% (น้ำหนักแห้ง) ในเกลือดำ โดยผลผลิตเกลือต้องมีเกณฑ์คุณภาพ ประกอบด้วย เกลือต้องมีสีธรรมชาติ ปราศจากสิ่งแปลกปลอม และไม่ใช้วัตถุเจือปนอาหารทุกชนิด ตลอดจนเกณฑ์กำหนดสำหรับสารปนเปื้อนในเกลือทะเลธรรมชาติ ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้สนใจขอรับมาตรฐาน GAP เกลือทะเล สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การประกอบอาชีพนาเกลือและผลผลิตเกลือพร้อมสำหรับการขอรับมาตรฐาน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน หรือศึกษาคู่มือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) ที่ http://e-book.acfs.go.th/Book_view/212  โดยสามารถยื่นขอและตรวจสอบรับรองมาตรฐานได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรอำเภอที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว