จ่อคิวพันธุ์พืชพื้นเมือง

682

มะปรางหวานทองประมูลพรหมณี จ่อคิวรับความคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น จ.นครนายก

ชาวนครนายก มีเฮ หลังคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมติเอกฉันท์  รับมะปรางหวานทองประมูลพรหมมณีเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นชนิดที่ 2 ต่อจากส้มเขียวหวานพันธุ์เทพรส  กรมวิชาการเกษตรเตรียมออกประกาศรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  หากพ้น 90 วันไม่มีผู้คัดค้านพร้อมออกหนังสือรับรองเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นให้ความคุ้มครองยาว 17 ปี

นายสมบัติ  ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้รับคำขอยื่นจดทะเบียนมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น โดยมีชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายกเป็นเจ้าของพันธุ์พืชเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 นั้น สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบคำขอ  แหล่งกำเนิด และคุณสมบัติของมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมมณีที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ  และเงื่อนไขการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเสนอคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้รับจดทะเบียนมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเรียบร้อยแล้ว  

ขณะนี้สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำคัดค้านเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยจะปิดประกาศ ณ กรมวิชาการเกษตร ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด  รวมกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ ในกรณีที่ไม่มีคำคัดค้าน คณะกรรมการจะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นให้ชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายกซึ่งมีพื้นที่การปลูกมะปรางครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี ต่อไป  โดยขณะนี้ผู้พัฒนาพันธุ์อยู่ระหว่างการขยายพันธุ์มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรมหณีโดยวิธีทาบกิ่งเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนไปอย่างต่อเนื่องจนครบตามจำนวนสมาชิกชุมชนทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งมีจำนวน 102 คน

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  จากการที่จังหวัดนครนายกมีนโยบายส่งเสริมให้มะปรางเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดนครนายก นายบุญส่ง เนียมหอม เกษตรกรอาชีพทำนาและทำสวนในพื้นที่ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก ได้เก็บผลมะปราง (มะยงชิด) พันธุ์ทูลเกล้าที่หล่นใต้ต้นในสวนของเพื่อนโดยนำผลที่ใกล้เน่าเปลือกสีดำมาเพาะ จนกระทั่งอายุ 7 ปีเริ่มให้ผลผลิต  พบว่ามีการกระจายตัวทางพันธุกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยในกลุ่มที่ 3 เป็นมะปรางหวานที่ทรงผลยาวรีเป็นรูปไข่  ผลมีขนาดใหญ่ มีจุกเล็กน้อยที่ขั้วผล ผลแก่และเนื้อผลมีสีเหลืองปนส้ม ความกว้างผลประมาณ 3.2 เซนติเมตร ความยาวผลประมาณ 6.2 เซนติเมตร รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอมจึงตั้งชื่อพันธุ์ว่า “หวานทองประมูลพรหมณี” พร้อมกับได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นกับสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช  เนื่องจากเห็นว่ามะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีมีลักษณะดีและต้องการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน  

เมื่อมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว ชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น โดยมีอายุการคุ้มครอง 17 ปี  และสามารถขยายอายุการคุ้มครองต่อได้คราวละ 10 ปี หากพันธุ์พืชนั้นยังเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชน  และชุมชนนั้นยังคงตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งยังร่วมกันอนุรักษ์หรือพัฒนามะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีโดยที่ยังไม่กระจายพันธุ์ออกไปนอกเขตชุมชน “มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี เป็นพันธุ์พืชที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นในลำดับที่ 2 ต่อจากส้มพันธุ์เทพรสซึ่งเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชคุ้มครองเฉพาะถิ่นจากกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2562  โดยหากผู้ใดจะใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นจะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับชุมชน  ซึ่งการจัดสรรผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นรายได้ร่วมกันของชุมชนถึง 60 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงขอเชิญชวนให้ชุมชนที่มีกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชนและไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ยื่นขอรับความคุ้มครองได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์  0-2940-7214”  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

กรมวิชาการเกษตร ข่าว