ห้ามใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะ

1,138

กรมประมง ย้ำ ! ใช้ หรือครอบครอง “ไอ้โง่” เพื่อทำประมงในแหล่งน้ำสาธารณะ ผิดกฎหมาย

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 67
ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง “เครื่องมือลอบพับได้” หรือที่เรียกว่า “ไอ้โง่” เพื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ทั้งพื้นที่ทะเลและพื้นที่น้ำจืดโดยเด็ดขาด เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำซึ่งส่งผล กระทบต่อความยั่งยืนต่อทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมาก ยกเว้นให้ใช้จับสัตว์น้ำได้เฉพาะในบ่อเพาะเลี้ยงที่เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองเท่านั้น

นายบัญชา สุขแก้ว 
รองอธิบดีกรมประมง

เนื่องจากการศึกษาเก็บข้อมูลทางวิชาการ พบว่า เครื่องมือลอบพับได้ หรือ ไอ้โง่ เป็นเครื่องมือทำการประมงประเภทใช้ดักจับสัตว์น้ำ รูปร่างลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม ด้านข้างมีทางเข้าของสัตว์น้ำทั้งสองด้านอยู่สลับกันทั้งซ้ายขวา ลอบ 1 ลูก จะมีความยาวประมาณ 8 เมตร ซึ่งเมื่อนำมาทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะจะมีประสิทธิภาพจับสัตว์น้ำได้หลายชนิด โดยจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย พบว่าชาวประมงแต่ละรายใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการประมงตั้งแต่ 8 – 100 ลูก วางต่อกันเป็นแนวยาวที่ความลึกของระดับน้ำประมาณ 0.60 – 10 เมตร และใช้ทำการประมงในช่วงตั้งแต่เวลาบ่ายถึงเย็นทิ้งไว้ในเวลากลางคืนและมาเก็บกู้ในตอนเช้าหรือสายของวันรุ่งขึ้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 – 24 ชั่วโมง  ทั้งนี้ ใน 1 เดือน สามารถทำการประมงได้ 10 – 30 วัน โดยอัตราการจับสัตว์น้ำเพียง 1 ลำ สามารถจับสัตว์น้ำได้ เฉลี่ยจำนวน 15 กิโลกรัม ประกอบด้วย กลุ่มกุ้งทะเล ร้อยละ 35.39 – 73.68  กลุ่มปลาเศรษฐกิจ ร้อยละ 14.21 – 49.73 กลุ่มปูทะเล ร้อยละ 2.78 – 21.22  ที่สำคัญ คือ พบว่าทุกกลุ่มชนิดสัตว์น้ำที่จับได้มีสัดส่วนขนาดความยาวเฉลี่ยน้อยกว่าระยะแรกเริ่มสืบพันธุ์ในสัดส่วนที่สูงถึง ร้อยละ 80 โดยเฉพาะในกลุ่มกุ้งทะเล ที่มีสัดส่วนขนาดความยาวก่อนระยะแรกเริ่มสืบพันธุ์ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 – 100 ซึ่งแสดงถึงการที่สัตว์น้ำถูกจับไปใช้ก่อนวัยอันควร ส่งผลทำให้สัตว์น้ำที่ยังไม่ได้มีโอกาสผสมพันธุ์วางไข่แม้แต่ครั้งเดียวถูกจับขึ้นไปใช้ประโยชน์ เป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง เพราะทำให้ไม่สามารถที่จะเกิดสัตว์น้ำในรุ่นถัดไปได้ เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์โดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือลอบพับได้ หรือ ไอ้โง่ ไม่ได้ถูกห้ามใช้จับสัตว์น้ำในบ่อเพาะเลี้ยง จึงสามารถหาซื้อได้ง่ายในตลาดทั่วไป ส่งผลให้มีผู้ลักลอบใช้เครื่องดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทยในพื้นที่ชายฝั่ง ในปี 2563 มีผลการจับกุม จำนวน 103 คดี ผู้ต้องหา 20 ราย และล่าสุดในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน พบมีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเครื่องมือชนิดนี้แล้วกว่า 51 คดี ซึ่งผู้กระทำผิดลักลอบทำการประมงด้วยเครื่องมือชนิดดังกล่าวจะต้องระวางโทษมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทหรือจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 166 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ผู้สนับสนุนหรือผู้ได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิด เช่น ผู้จำหน่ายเครื่องมือให้ไปกระทำผิด ก็เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดและต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งให้นโยบาย 3 ป. ได้แก่ 1.ป้อง (สร้างความรู้ความเข้าใจป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด) 2.ปราม (ปรามเตือนให้ผู้กระทำผิดรับรู้เข้าใจและไม่ทำผิดอีก) 3. ปราบ (ใช้มาตรการเข้มแข็งเข้มงวดทางกฎหมาย) ในการอนุรักษ์บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับวิถีการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคง อธิบดีกรมประมง นายมีศักดิ์  ภักดีคง มีความห่วงใยต่อพี่น้องชาวประมง ที่อาจจะกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งกฎหมายมีบทลงโทษที่สูง เนื่องจากเครื่องมือไอ้โง่เป็นเครื่องมือที่ทำลายสัตว์น้ำอย่างรุนแรง จึงได้แจ้งให้ประมงจังหวัดทุกแห่ง ชี้แจงถึงแนวทางในการดำเนินการควบคุมการใช้เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ทำการประมง รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้พี่น้องชาวประมงและผู้จำหน่ายเครื่องมือลอบพับได้ทราบถึงข้อกฎหมาย ที่ได้อนุญาตให้ใช้หรือมีไว้ในครอบครองเครื่องมือดังกล่าว โดยอนุญาตให้ใช้ในการจับสัตว์น้ำในบ่อเพาะเลี้ยงเท่านั้นมิให้นำไปใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์โดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ประมง เร่งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวประมง และผู้จำหน่ายเครื่องลอบพับได้ หรือไอ้โง่ ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้น พร้อมเน้นย้ำให้ใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ขั้นจับกุม การสืบสวนพฤติกรรมการกระทำความผิด จนถึงการดำเนินการของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับแต่ละจังหวัด ให้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ผู้ร่วมกระทำผิด ผู้สนับสนุน และผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด อย่างจริงจัง

กรมประมง ข่าว