ฤดูน้ำแดง 2564 – 2565

1,469

กรมประมงออกประกาศ “ฤดูน้ำแดง 2564 – 2565” คุ้มครองสัตว์น้ำจืดทั่วประเทศ

กรมประมงออกประกาศกำหนดฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ “ฤดูน้ำแดง” ทั่วประเทศ เผยปรับมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำจืด มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันของปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่าและข้อมูลการพัฒนาระบบสืบพันธุ์และผสมพันธุ์วางไข่ของสัตว์น้ำจืด ลดผลกระทบต่อวิถีการทำประมงของชาวบ้าน ประเดิมวันแรก 16 พฤษภาคม 2564 ขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำจืดอย่างยั่งยืน

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจรับผิดชอบในการอนุรักษ์ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสม และสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน มาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่งที่กรมประมงดำเนินการตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คือ การประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำจืด หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ฤดูน้ำแดง” เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน โดยการกำหนดระยะเวลา พื้นที่ และห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงทุกชนิด ยกเว้น เครื่องมือบางชนิดที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้จับสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัว เกิดขึ้นใหม่ ทดแทน และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการติดตามประเมินผลการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในปีต่อไป ผลการศึกษาทางวิชาการจากการใช้มาตรการ “ฤดูน้ำแดง” ปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า การกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ ช่วงระยะเวลาในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ และมาตรการฤดูน้ำแดง ปี 2563 สามารถดูแลรักษาพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นในแหล่งน้ำธรรมชาติภายหลังการคุ้มครองดังกล่าวอย่างน่าพอใจ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง
อธิบดีกรมประมง

นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2564 ถึงปี 2565 กรมประมงยังคงประกาศใช้มาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทุกจังหวัด ให้เหมาะสมตามข้อมูลทางวิชาการและการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ทำให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และต่อเนื่อง โดยคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเร็วกว่าปกติ และไปสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือนตุลาคม และปริมาณน้ำฝนรวมของทั้งประเทศจะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติและมากกว่าปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า ช่วงดังกล่าวนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาพันธุ์สัตว์น้ำและระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ในมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง) กรมประมงจึงออกประกาศใช้มาตรการสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน “ฤดูน้ำแดง” มีกำหนดใช้ 2 ปี (2564 – 2565) ตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้

ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงทุกชนิดในช่วงฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ ยกเว้น เครื่องมือบางชนิด ตามระยะเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้

  • วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564 และ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 : ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย  เชียงใหม่  น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
  • วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 และ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 : ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู  ขอนแก่น  ชัยภูมิ  นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด  มุกดาหาร  ยโสธร  อำนาจเจริญ  อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ  สุรินทร์  บุรีรัมย์  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์  ชัยนาท  อุทัยธานี  สิงห์บุรี  ลพบุรี  อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ  สมุทรสาคร สมุทรสงคราม  นครนายก  ปราจีนบุรี  สระแก้ว  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี ระยอง  จันทบุรี และตราด
  • วันที่ 1 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และ วันที่ 1 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565  : ในพื้นที่ 5  จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง  สงขลา  ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

โดยเครื่องมือ วิธีการทำการประมง ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้

  1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวง ที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
  2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
  3. สุ่ม ฉมวก และส้อม
  4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
  5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
  6. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า          

ที่ผ่านมา กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงในแหล่งน้ำจืดทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย จนทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำค่อยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ และในปีนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงและประชาชนทั่วไป ในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการทำประมงอย่างถูกวิธี ไม่ทำลายสัตว์น้ำด้วยการใช้เครื่องมือที่ห้ามใช้จับปลาในฤดูมีไข่ และช่วยกันสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำจืดของไทยให้สามารถแพร่ขยายพันธุ์คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้สัตว์น้ำจืดมีใช้อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมประมง กล่าว

กรมประมง ข่าว