เกษตรกรดีเด่นสาขาGAPและอินทรีย์

1,096

เกษตรกร GAP และอินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติปี 64

กรมวิชาการเกษตร เปิดประวัติ 2 เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2564 ไทม์ไลน์ไม่ธรรมดา สาขา GAP อดีตข้าราชการครูเบนเข็มเป็นชาวสวนผลิตลำไยนอกฤดูสร้างรายได้เป็นล้าน/ปี สาขาอินทรีย์ปลูกพืชผักผสมผสานปลดหนี้ได้ สุขภาพดี  ชู 2 เกษตรกรยึดหลักผลิตสินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัย เรียนรู้ปรับใช้เทคโนโลยี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  พร้อมแบ่งปันความรู้ให้ชุมชน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในทุกปีกรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นที่ผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์  เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกร โดยในปี 2564 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือก นายอำนาจ จันทรส เกษตรกรเจ้าของสวนลำไย จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และนายสุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรปลูกพืชผักผสมผสาน จังหวัดนครปฐม ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชอินทรีย์

นายอำนาจ จันทรส เกษตรกร GAP ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี อดีตข้าราชการครูที่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนลำไย โดยนำกิ่งพันธุ์จำนวน 200 ต้นจากจังหวัดลำพูนมาทดลองปลูก ซึ่งเมื่อปลูกจนให้ผลแล้วจึงพบปัญหาการออกดอกติดผลแปรปรวนไม่สม่ำเสมอทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตและคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่แน่นอนได้ เมื่อทราบว่าทางภาคใต้เริ่มมีการทำลำไยนอกฤดูและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพจึงได้เดินทางไปศึกษาวิธีการทำลำไยนอกฤดูและนำกลับมาทำในพื้นที่ของตนเองจนได้ผลผลิตลำไยนอกฤดูออกจำหน่ายในปี 2541 และได้สมัครเข้าสู่การผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP กับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี ในปี 2547 เนื่องจากเห็นว่าตลาดประเทศจีนมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP

ด้วยทักษะและประสบการณ์การผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพและการบริหารจัดการสวนที่ดีตามมาตรฐาน GAP ทำให้การผลิตลำไยที่สวนภัทรพันธุ์ของนายอำนาจซึ่งมีพื้นที่ 140 ไร่  มีต้นลำไยจำนวน 3,374 ต้นประสบความสำเร็จทุกปี โดยนายอำนาจใช้วิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใส้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้นลำไย 5-10 กก./ต้น/ปี และทุก 3 ปีจะมีการปรับค่าความเป็น กรดด่างของดินด้วยการใส่ปูนโดโลไมท์เพื่อไม่ให้ดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นเวลานานมีค่าความเป็นกรดด่างมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อต้นลำไยได้ ในช่วงใบอ่อนมีการใช้น้ำหมักจากสะเดาเพื่อไล่แมลงและใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาผสมน้ำฉีดพ่นลงดินเพื่อปรับปรุงดินและป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้ผลผลิตจำนวน 1,980 กิโลกรัม/ไร่  ซึ่งสูงกว่าผลผลิตลำไยของจังหวัดจันทบุรีที่มีค่าเฉลี่ย 869 กิโลกรัม/ไร่ โดยนายอำนาจมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตลำไยในปี 2563 จำนวน 1,744,360 บาท

นายสุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรพืชอินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดชัยนาท เกษตรกรที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต แต่เนื่องจากกิจกรรมทางการเกษตรมีต้นทุนที่สูง กระบวนการผลิตยังมีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง ส่งผลให้มีปัญหาทั้งด้านสุขภาพและหนี้สินจึงกลับมาทำเกษตรแบบธรรมชาติโดยเริ่มทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ในปี พ.ศ. 2542 จนสามารถปลดหนี้สินได้สำเร็จและยึดแนวทางผลิตพืชแบบอินทรีย์มาจนถึงปัจจุบัน

ภายในเนื้อที่ทำการเกษตรจำนวน 17 ไร่ นายสุธรรม ได้แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกข้าว ปลูกพืชผักผสมผสาน ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร ผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ และโรงสีข้าว โดยพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร  ปัจจุบันมีพืชที่ขอการรับรองจำนวน 27 ชนิด  โดยปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกันและเลือกปลูกผักที่ให้ผลผลิตดีตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของระบบเกษตรอินทรีย์มากที่สุด เช่น ผักพื้นบ้าน  โดยนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร เช่น แมลงหางหนีบ ไส้เดือนฝอย เชื้อราบิวเวอเรีย มาใช้ในการบริหารจัดการศัตรูพืช ใช้พืชสมุนไพรขับไล่แมลง คลุมแปลงด้วยพลาสติกในพืชบางชนิด เพื่อลดปัญหาวัชพืชและแรงงาน 

นอกจากนี้ ยังปลูกพืช 9 ชนิดในแปลงเดียวกันโดยเน้นชนิดพืชผักที่มีอายุใกล้เคียงกัน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ พืชอายุสั้น อายุปานกลาง และอายุยาว ซึ่งพืชทั้ง 3 ระดับจะต้องเป็นพืชที่ดูแลอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อปลูกผักกาด คะน้า ผักโขม มะเขือ ก็จะปลูกพืชสมุนไพรร่วมด้วย เพื่อป้องกันโรคและแมลงมารบกวน มีการวางแผนการปลูกพืชทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน โดยปลูกแบบผสมผสาน หมุนเวียนสอดคล้องกับฤดูกาลผลิตและความต้องการของตลาด ในปี 2563 ที่ผ่านมามีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจำนวน 55,900 บาท/ไร่/ปี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 ทั้ง 2 รายนี้นับเป็นความภาคภูมิใจของกรมวิชาการเกษตร เพราะเป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นและรักในอาชีพเกษตรกร มีความคิดริเริ่ม อดทน ขยันหมั่นเพียร พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ ทำการเกษตรโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตมีคุณภาพได้รับการยอมรับจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งสามารถเป็นผู้นำและแบบอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้ปฏิบัติตามต่อไป

กรมวิชาการเกษตร ข่าว