กรมประมงเปิดโผสัตว์น้ำประจำถิ่นหายาก/ใกล้สูญพันธุ์ 39 ชนิด เร่งเพาะ ขยาย ปล่อย
กรมประมงเดินหน้าโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่น หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตั้งเป้าเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำรวม 39 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์น้ำจืด 36 ชนิด สัตว์ทะเล จำนวน 3 ชนิด ซึ่งสัตว์ทะเล ได้แก่ “หอยหวาน ฉลามกบ และปลิงทะเล” เผยเตรียมพร้อมทีมนักวิชาการและเจ้าหน้าที่เดินหน้าจัดกิจกรรมสนับสนุนตามแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่าภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมงปี 2564 หนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชนิดปลาและสัตว์น้ำมากเป็นแห่งหนึ่งของโลกแต่ปัจจุบันพบว่าสัตว์น้ำบางชนิดลดจำนวนลงและมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นและการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำพื้นเมืองจากการปรับปรุงพันธุ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวจึงได้มอบนโยบายให้กรมประมงเร่งพิจารณาแนวหาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่นหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมประมงได้จัดตั้งขึ้นมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำให้คงความหลากหลายและเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตรที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความอย่างยั่งยืนบนสังคมสีเขียวและการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยทางกรมฯ จะดำเนินการผลิตสัตว์น้ำและนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทดแทนปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกทำลายจากปัจจัยต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น สำหรับโครงการฯ มีระยะเวลาในการดำเนินการในปี 2564 ครอบคลุมสัตว์น้ำจืดและทะเล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านสัตว์น้ำจืด
กรมประมงดำเนินการเพาะขยายและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดภายใต้โครงการฯ ตั้งแต่ปี 2561-2563 จำนวน 39 ชนิด รวม 4,412,520 ตัว โดยในครั้งนั้นสามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองครั้งแรกของโลกได้ 2 ชนิด ได้แก่ ปลารากกล้วยจินดา และปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ และในส่วนของปี 2564 ได้พิจารณาคัดเลือกสัตว์น้ำจืดจำนวน 36 ชนิด ประกอบด้วย
1. ปลาสร้อยลูกกล้วย | 2. ปลาเทพา | 3. ปลาเลียหิน | 4. ปลารากกล้วยจินดา | 5. ปลาแปบควาย |
6. ปลาแดง | 7. ปลายี่สกไทย | 8. ปลาจาด | 9. ปลาสร้อยเกล็ดถี่ | 10. ปลาซิวควาย |
11. ปลาชะโอน | 12. ปลากะโห้ | 13. ปลาเวียน | 14. ปลาเทโพ | 15. ปลาม้า |
16. ปลาอีกง | 17. ปลาแก้มช้ำ | 18. ปลาสลาด | 19. ปลาดุกอุย | 20. ปลาดุกด้าน |
21. ปลากระทิง | 22.ปลาพรมหัวเหม็น | 23. ปลาแขยงหิน | 24. ปลากดเหลือง | 25. ปลาบ้า |
26. ปลาสร้อยนกเขา | 27.ปลานวลจันทร์น้ำจืด | 28. ปลาจีด | 29. ปลาตะพัด | 30. ปลาหมอตาล |
31. ปลาตุม | 32. ปลาพลวงชมพู | 33. ปลาร่องไม้ตับ | 34. ปลากระดี่มุก | 35. กบภูเขา |
36.ปลาหลด |
ปัจจุบันดำเนินการปล่อยสัตว์น้ำจืดฯ เรียบร้อยแล้วจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ ปลาจีด ปลาตะพัด ปลาสร้อยลูกกล้วย ปลาแปปควาย ปลาแดง ปลาจาด ปลายี่สกไทย ปลาเวียน ปลาดุกอุย ปลาร่องไม้ตับและปลาชะโอน รวมจำนวนทั้งสิ้น 397,103 ตัว
ด้านสัตว์ทะเล
ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลกรมประมงได้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และคงความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์ทะเลในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยเฉพาะสัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สำหรับปี 2564 กรมประมงได้คัดเลือกสัตว์ทะเล จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ฉลามกบ หอยหวาน ปลิงกาหมาด เข้าร่วมโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ฉลามกบ : ฉลามทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารเพราะฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้หมดอายุตามวัย รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะ สำหรับประเทศไทยไม่มีการทำการประมงฉลามโดยตรง ส่วนใหญ่ฉลามเป็นสัตว์น้ำพลอยจับได้ (by – catch) อีกทั้งฉลามยังถูกนำมาปรุงเป็นอาหารโดยเฉพาะเมนูซุปหูฉลามส่งผลให้ปริมาณฉลามในธรรมชาติลดจำนวนน้อยลง กรมประมงได้จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (National Plan of Action for Conservation and Management of Shark, Thailand: NPOA – Sharks) (แผน 5 ปี 2563 – 2567) ภายใต้กรอบแผนปฏิบัติการสากลเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลาม (International Plan of Action for the Conservation and Management of Shark: IPOA – Sharks) โดยจะศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลชีววิทยา นิเวศวิทยา การใช้ประโยชน์ฉลามในน่านน้ำไทย การประเมินสถานภาพและภัยคุกคามที่เกิดจากการประมงและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อฉลามพร้อมกำหนดมาตรการอนุรักษ์ควบคุมการทำการประมงและการค้าฉลามที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อกำหนด และพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรฉลาม
สำหรับฉลามกบจากรายงานพบว่ามีจำนวนลดน้อยลงสอดคล้องกับรายงานบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุฐานะสถานภาพของปลาฉลามกบไว้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หมายถึง ระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ การประเมินจะดูจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามหรือสิ่งมีชีวิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2564 กรมประมงจึงได้คัดเลือกฉลามกบเข้ารวมโครงกาฯ โดยมีแผนศึกษาวิจัยพร้อมปล่อยฉลามกบที่ได้จากการเพาะขยายพันธุ์ในเขตพื้นที่ปะการังเทียมของกรมประมงจำนวน 100 ตัว ปัจจุบันดำเนินการปล่อยครบจำนวนเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
2.หอยหวาน : หอยหวานเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปทั้งอ่าวไทยและอันดามัน เช่น ตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500-650 บาท/กก. สำหรับปี 2564 กรมประมงร่วมกับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง จัดโครงการหอยหวานคืนถิ่นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีเป้าหมายปล่อยหอยหวานจำนวน 50,000 ตัว อีกทั้งยังมีการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์หอยหวานขึ้นโดยเป็นความตกลงร่วมกันของสมาชิกภายในชุมชน และมีการจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำ เพื่อให้ทรัพยากรหอยหวานอยู่คู่กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยองตลอดไป
3.ปลิงกาหมาด เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ เนื่องจากได้รับความนิยมในการจับมาเป็นอาหารและยารักษาโรค จึงถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมากจนในธรรมชาติมีปริมาณลดจำนวนลงอีกทั้งปลิงทะเลจะขยายพันธุ์ช้ายิ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล กรมประมง จึงได้ทดลองเพาะขยายพันธุ์จนประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยและจากความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปลิงทะเลของทางศูนย์วิจัยพัฒนาประมง ฯ ในปี 2563 สามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้จำนวน 1,200 ตัวขนาด 8-10 ซม.ตามแนวปะการังน้ำตื้นชายฝั่ง อ.ละงู และเกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ได้เพาะขยายพันธุ์พร้อมปล่อยลูกปลิงขนาด 1-2 ซม. จำนวน 2,800 ตัว ขนาด 8-10 ซม. 200 ตัว โดยคาดว่าจะเริ่มปล่อยได้รอบแรกประมาณเดือน มิถุนายน 2564 ที่บริเวณเกาะสาหร่าย จ.สตูล
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำฯ กรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยในแต่ละปีจะคัดเลือกสัตว์น้ำจืดและทะเลที่มีความเสี่ยงหายากหรือใกล้สูญพันธุ์เข้าร่วมโครงการฯ โดยนำมาศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ เพื่อสร้างความสมดุลในกับระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับประชาชนผู้สนใจหากต้องการศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตสัตว์น้ำประจำถิ่น สัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สามารถชมได้ที่ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำของกรมประมงทั่วประเทศ โดยได้รวบรวมและจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำมีชีวิตทั้งสัตว์น้ำจืดและทะเล ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับอาชีพการทำการประมง เรือประมง และเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ จากในส่วนนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ไว้บริการให้กับพี่น้องประชาชนตลอดจนเยาวชนเพื่อสร้างสร้างการรับรู้ให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมประมง โทร.02-562-0600-15
กรมประมง ข่าว