คุมเข้มทุเรียนใต้

736

เกษตรสั่งคุมเข้มทุเรียนใต้ ป้องกันผลผลิตด้อยคุณภาพ ฝ่าฝืนมีโทษจำและปรับ

กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการเกษตรจังหวัดภาคใต้ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนสำคัญ ตั้งชุดเฉพาะกิจสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัด ย้ำใช้บทลงโทษทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายทุเรียนอ่อนเด็ดขาด

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 จะเป็นช่วงที่ทุเรียนภาคใต้ให้ผลผลิตออกสู่ตลาด กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สั่งคุมเข้มเรื่องคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนใต้ ไม่ให้มีการจำหน่ายทุเรียนอ่อนโดยเด็ดขาด เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนอาจเร่งตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดในช่วงต้นฤดูกาลเพื่อหวังทำกำไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนภาคใต้และทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค และอาจส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเมื่อถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จึงต้องตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัด ตามแนวการบริหารจัดการผลไม้ ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างมีข้อกำหนด และเงื่อนไขที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ของโควิด – 19 รวมไปถึงการแข่งขันทางการตลาดจากนานาประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าได้คุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย  อีกทั้งจะช่วยป้องกันปัญหาทางด้านราคาผลผลิตตกต่ำและด้อยคุณภาพอีกด้วย

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ด้าน นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำหรับคาดการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ปีนี้ จะมีไม่ต่ำกว่า 5.9 แสนตัน จากพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 465,646ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 630,604 ไร่ สำหรับราคาจำหน่ายคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2563 โดยราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 – 120 บาท หากเป็นทุเรียนพรีเมี่ยมหรือขายในตลาดออนไลน์ ราคาจะสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของทุเรียน ซึ่งประเทศจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก มีปริมาณความต้องการมาก คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 5 หมื่นล้านบาท

นายสุพิท จิตรภักดี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5
จังหวัดสงขลา

สำหรับผลผลิตทุเรียนในภาคใต้เกือบร้อยละ 60 เป็นผลผลิตจากจังหวัดชุมพร ประกอบกับล้งส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวแล้วภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้กำหนดแนวทางในการควบคุมป้องกันและแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด และสร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่าง เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ดังนี้ 1) เก็บเกี่ยวผลผลิตตามมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ 2) มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ 3) การกำหนดวันเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนจังหวัดชุมพร 4) จัดทำฐานข้อมูลจำหน่ายทุเรียนแผงริมทาง มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพรดำเนินการ 5) จัดทำฐานข้อมูลโรงคัดแยกบรรจุที่ได้รับมาตรฐาน GMP 6) มาตรการลงโทษ (ล้ง) ที่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ ตักเตือน ยึดใบอนุญาต มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดชุมพรดำเนินการ 7) กำหนดมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ 8) บทลงโทษผู้ซื้อขายทุเรียนอ่อน 9) จัดอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการวิเคราะห์ทุเรียนคุณภาพและสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจสอบ 10) เกษตรกรต้องมีการบันทึกข้อมูลการผลิตและแจ้งวันดอกทุเรียนบานและคาดคะเนวันเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยให้แจ้งข้อมูลที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เน้นขับเคลื่อนชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจระดับหมู่บ้าน โดย อกม.จะมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ทุเรียนในหมู่บ้านให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ และแจ้งมายังนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบตำบล และก่อนตัดจะต้องแจ้งให้ชุดปฏิบัติการทราบก่อน หากมีทุเรียนอ่อนออกจากตำบลชุดปฏิบัติการในพื้นที่ต้องรับผิดชอบเบื้องต้นและรายงานให้ อำเภอ จังหวัดทราบทันที เพื่อสกัดไม่ให้ออกไปสู่ตลาด

ทั้งนี้ หากพบเห็นการซื้อขายทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีบทลงโทษทางกฎหมาย ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว