ระวังโรครากเน่าโคนเน่า

909

เกษตรฯ เตือนเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล ระวังการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศและสภาพดินมีความชื้นสูง เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา ไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนและไม้ผลหลายชนิด กรมส่งเสริมการเกษตรขอแจ้งให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำไม่ดี ให้หมั่นสำรวจแปลงปลูกและเฝ้าระวังการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า เชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตในดินอาการของพืชจึงมักเกิดที่บริเวณโคนต้นและระบบราก ทำให้รากเน่า โคนต้นเปลือกปริแตก มีอาการยางไหลในสภาพที่อากาศชื้น เมื่อใช้มีดถากที่เปลือกบริเวณที่เป็นโรคจะเห็นเป็นสีน้ำตาลแดงถึงดำ ต้นแสดงอาการใบเหลืองซีดลู่ลง กิ่งบางกิ่งเริ่มแห้งตาย และทำให้ผลร่วง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ส่วนการแพร่ระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า มักพบการระบาดรุนแรงในฤดูฝน ซึ่งสภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะสมกับการแพร่กระจายและเข้าทำลายของเชื้อราดังกล่าว ทั้งนี้เชื้อราไฟทอปธอรา สามารถแพร่กระจายได้โดยลม น้ำ และฝน หรือติดไปกับวัสดุปลูก เครื่องมือทางการเกษตร และกิ่งพันธุ์เป็นโรค และสร้างสปอร์ที่สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานานเมื่อมีสภาวะแวดล้อมเหมาะสมก็สามารถงอกเส้นใยเข้าทำลายพืชได้

กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า ดังนี้

  1. ควรบำรุงต้นไม้ผลให้แข็งแรงสมบูรณ์ ทำการตัดแต่งกิ่ง หรือลำต้นที่เป็นโรค เก็บรวบรวมไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก
  2. หมั่นสำรวจทุกต้น 7 วันต่อครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนธันวาคม
  3. ควรตรวจวิเคราะห์และปรับปรุงบำรุงดินโดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมี และปูนขาว ตามอัตราคำแนะนำหลังจากการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นดินดีทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมี โดยดินควรมีสภาพเป็นกลาง คือมีค่า pH = 6.5 และทำร่องระบายน้ำในสวนที่เป็นพื้นที่ต่ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
  4. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยควบคุมการระบาด โดยผสมของเชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม รำข้าว 4 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม ก่อนนำไปหว่านในพื้นที่รัศมีทรงพุ่มที่มีรากฝอยอยู่ หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก
  5. เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล – อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1 – 2 ครั้ง ทุก 7 – 10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลอย่างน้อย 15 วัน
  6. เมื่อพบจุดที่เป็นโรค ซึ่งเป็นอาการของโรคโคนเน่า ให้เกษตรกรขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก และเผาทำลาย แล้วทาแผลด้วยปูนแดง หรือสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น
  7. กรณีที่พบอาการที่บริเวณรากฝอย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลดำ และใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้สาร ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินบริเวณรากด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ทั้งนี้ หากเกษตรกรสามารถขอคำแนะนำ ขอรับเชื้อราไตรโคเดอร์มาหรือเข้ามาเรียนรู้การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าและโรคที่เกิดจากเชื้อรา ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด/อำเภอใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว