กรมประมง เดินหน้าพัฒนา 2,419 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
ในห้วงระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา นอกจากกรมประมงได้ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาในภาคการประมงไทยทั้งระบบแล้ว กรมประมงได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการชุมชนประมงของตนในการจัดการทรัพยากร การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มและจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 รวมทั้งการช่วยเหลือและสนับสนุนในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หลังจากที่กรมประมงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 จนถึงปัจจุบันนี้ ปรากฎว่า มีชาวประมงและเกษตรกร ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงแล้วกว่า 2,419 ชุมชน จำนวนสมาชิก 91,278 ราย ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านประมงทะเลชายฝั่ง จำนวน 767 ชุมชน สมาชิก 31,823 ราย 2) ด้านประมงทะเลนอกชายฝั่ง จำนวน 64 ชุมชน สมาชิก 3,780 ราย 3) ด้านประมงน้ำจืด จำนวน 499 ชุมชน สมาชิก 17,821 ราย 4) ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 301 ชุมชน สมาชิก 7,434 ราย และ 5) ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 788 ชุมชน สมาชิก 30,420 ราย
ซึ่งที่ผ่านมา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้กรมประมงเข้าไปส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากร การพัฒนาอาชีพประมง สร้างรายได้ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องชาวประมงให้เกิดความมั่นคง เมื่อปี 2563 กรมประมง ภายใต้การขับเคลื่อนของนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 144 องค์กรชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน อาทิ กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ : โดยการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในชุมชน เช่น การสร้างซั้งกอ ซั้งเชือกสำหรับเป็นแหล่งอาศัย ที่หลบภัย ที่วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ/การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ/ธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ฯลฯ การพัฒนาปรับปรุงการจับสัตว์น้ำ : โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงตามมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนและชนิดสัตว์น้ำ และการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าสัตว์น้ำ : กิจกรรมการเก็บรักษาและการแปรรูปสัตว์น้ำตามมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้บริโภคสัตว์น้ำที่มีคุณภาพ โดยกรมประมงได้เชื่อมโยงตลาดเพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายผ่านองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมการท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหารผ่านระบบการซื้อขายออนไลน์ (Fisheries Shop) ตลอดจนการพัฒนากิจกรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Fisherman Village Resort) ให้กับชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีศักยภาพ จนกระทั่งวันนี้ ผลของการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถช่วยให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่นทั้ง 144 ชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
ซึ่งหลังจากที่กรมประมงได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนในทุกองค์ประกอบของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ขณะนี้มีหลายชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับชุมชนของตนเอง เช่น องค์กรเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้าน ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการทำประมงแบบไม่รู้กฎหมายและทำการประมงแบบขาดการอนุรักษ์ มาเป็นการจัดทำเขตอนุรักษ์และแนวฟื้นฟูหญ้าทะเล การจัดทำธนาคารปูม้า สร้างความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกลุ่มประมงพื้นบ้านเชิงอนุรักษ์บ้านบานา ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี อดีตสัตว์น้ำหายไป ทำให้ชาวบ้านในชุมชนต้องเลิกทำอาชีพประมง แต่ยังชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มีใจอนุรักษ์รวมตัวกันทำประมงอย่างถูกกฎหมาย ดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาชีพประมงให้เกิดความยั่งยืน กระทั่งพัฒนาให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งอาหารทะเลสด ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา จากการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างสิ้นเปลือง ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาเข้าขั้นวิกฤต ปรับเปลี่ยนมาเป็นการร่วมกันสร้างกติกาชุมชนเพื่อดูแลรักษาและปกป้องทรัพยากรในชุมชน อนุรักษ์สัตว์น้ำหน้าบ้าน ปล่อยสัตว์น้ำ สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ ช่วยฟื้นฟูให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในชุมชนกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นแหล่งแปรรูปสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปี 2564 กรมประมงได้ขยายโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงต่อไปยังชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านประมงชายฝั่งอีก 250 ชุมชนประมงพื้นบ้านทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล มีการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นผ่านโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร การจัดประชุมเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงถิ่นระดับจังหวัด อีก 459 ชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน และล่าสุด คือ การจัดทำแผนงานและแนวทางในการพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และเตรียมส่งต่อให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดชายทะเลนำไปบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน โดยในปี 2565 นั้น กรมประมงได้เตรียมที่จะขยายพื้นที่สร้างความเข้มแข็งไปยังพื้นที่ประมงชายฝั่งทะเลและประมงน้ำจืด อีกกว่า 200 ชุมชน
กรมประมง เชื่อมั่นว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการต่างๆ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาชุมชนประมงท้องถิ่น จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยังยืนควบคู่ไปกับวิธีประมงพื้นบ้านของไทยที่จะมีการพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตที่มั่งคงของพี่น้องชาวประมงได้อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรและชาวประมงที่มีการร่วมกลุ่มกันมาขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อที่กรมจะผลักดันให้การช่วยเหลือทั้งเรื่องงบประมาณและความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของท่านโดยสามารถติดต่อขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ และสำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล รองอธิบดีฯ กล่าว
กรมประมง ข่าว