เพาะพันธุ์สำเร็จ

1,018

กรมประมงเพาะพันธุ์ “ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล” สำเร็จ! ตอบโจทย์เกษตรกร ตลาดต้องการสูง

กรมประมงโชว์ผลงานเพาะพันธุ์ “ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล” ได้สำเร็จ สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์ลูกปลาเพศเมีย ตอบโจทย์เกษตรกรที่ต้องการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่าย แก้ไขปัญหาพันธุ์ปลาไม่ได้ขนาด ให้ตรงความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพิ่มรายได้ในอาชีพ ตลอดจนสร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงผลสำเร็จครั้งนี้ว่า “ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล”เป็นปลาตะเพียนขาวที่นำปลาตะเพียนขาวเพศผู้ที่มีโครโมโซม XX เมื่อนำไปผสมกับปลาตะเพียนขาวเพศเมียปกติจะสามารถผลิตได้ลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมียทั้งหมด ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวที่มีขนาดแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปลาตะเพียนขาวเพศเมียมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าและมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้ สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบนโยบายให้กรมประมงให้ความสำคัญกับการวิจัยและฒนาการเพาะหรือปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประชาชนประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ด้านนางวิระวรรณ ระยัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เสริมในรายละเอียดว่า “ปลาตะเพียนขาว” เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ให้ลูกดก สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เกือบตลอดปี ประชาชนนิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาส้มที่มีรสชาติดีที่สุด โดยในปี 2550 ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขง (Silver 2K) จนประสบความสำเร็จและมีการกระจายพันธุ์อย่างแพร่หลายในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางศูนย์ฯ จึงนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิต ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล ที่ให้ผลผลิตเป็นลูกปลาเพศเมียทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนของการผลิตพันธุ์ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล เริ่มต้นจากการนำพ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขง (Silver 2K) มาทำลายสารพันธุกรรมในน้ำเชื้อแล้วเหนี่ยวนำด้วยขบวนการไจโนจีนีซีสให้มีโครโมโซมเป็น 2 ชุด (2n) ได้ผลผลิตเป็นปลาตะเพียนขาวไจโนจีนีซีสเพศเมีย (XX-Female) หลังจากนั้น ทำการแปลงเพศโดยการให้กินอาหารผสมฮอร์โมนจะได้ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลเพศผู้ (Neomale, XX-male) สำหรับใช้เป็นพ่อพันธุ์ในการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลครั้งนี้

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2562 ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ ได้แจกจ่ายปลาตะเพียนขาวพ่อพันธุ์นีโอเมล (พันธุ์ขยาย) จำนวน 1,030 ตัว ให้แก่เกษตรกร 8 รายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีเกษตรกรผลิตลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมีย จำนวน 5 ราย สามารถผลิตลูกปลาตะเพียนขาวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2.1 ล้านตัว จากการติดตามผลการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวนีโอเมล พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีลักษณะการเลี้ยงเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพเสริม ทั้งในบ่อดินและในนาข้าว อัตราความหนาแน่นเฉลี่ย 1,960 ตัวต่อไร่ อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปร่วมกับอาหารธรรมชาติ ระยะเวลาเลี้ยง ราว 5 – 7 เดือน ผลผลิตที่ได้มีขนาด 200 – 250 กรัมต่อตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปลาตะเพียนขาวพบว่า ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้นกว่าประมาณ 1 เดือน ให้ผลผลิตที่สูงกว่า 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ และผลผลิตปลาที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอ จากการประเมินผลความพึงพอใจของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจระดับมากที่สุดในประเด็นคุณภาพของปลา อัตราการรอดตาย อัตราการเจริญเติบโต เปอร์เซ็นต์เพศ ราคาพันธุ์ปลา ระยะเวลาการเลี้ยง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

รองอธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ สามารถผลิตปลาตะเพียนขาวพ่อพันธุ์นีโอเมล (พันธุ์หลัก) ปลาตะเพียนขาวพ่อพันธุ์นีโอเมล (พันธุ์ขยาย) และลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมีย เพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไป นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกรมประมงในการพัฒนา ปรับปรุง และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภค ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ หรือกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 4463 4861 ได้ในวันและเวลาราชการ

กรมประมง ข่าว