กรมประมง เตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเฝ้าระวังโรคในช่วงเปลี่ยนฤดู
ด้วยขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยได้เปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยในหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาวะอากาศ อุณหภูมิน้ำ และออกซิเจนในน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ซึ่งได้ส่งผลต่อสัตว์น้ำที่เกษตรกรทำการเพาะเลี้ยงทั้งในบ่อดินและกระชังในแม่น้ำ ลำคลอง รวมถึงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ รับเชื้อโรคได้ง่าย และตายอย่างฉับพลัน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้มีระบบการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำทั้งแบบเชิงรุกและเชิงรับอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในขณะนี้พบรายงานว่ามีการทยอยตายของ “กุ้งก้ามกราม” ในเขตการเลี้ยงของพื้นที่จังหวัดนครปฐม และราชบุรีมากผิดปกติ ซึ่งจากการวิเคราะห์คาดว่ามีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อก่อโรค หรือมีปัจจัยโน้มนำทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น สภาพพื้นบ่อไม่เหมาะสม มีการสะสมของเสีย หรือมีปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อมากเกินไป คุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยงไม่เหมาะสม หรือค่าคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ค่าปริมาณแอมโมเนียรวมในน้ำเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีหลังฝนตกพีเอชของน้ำและอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกุ้งปรับตัวไม่ทัน เป็นต้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้กุ้งก้ามกรามอ่อนแอ ตาย และเพิ่มระดับความรุนแรงเมื่อเกิดโรคในฟาร์มได้
กรมประมงจึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้หมั่นสังเกต และเฝ้าระวัง ลักษณะอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้เพื่อป้องกันความเสียหาย ดังนี้
- กุ้งมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น กินอาหารลดลง เคลื่อนไหวช้า เกยขอบบ่อ ว่ายน้ำผิดปกติ
- สีลำตัวเปลี่ยน เช่น สีซีด พบกล้ามเนื้อขาวขุ่น ลำตัวเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง
- มีรอยโรคหรือจุดสีดำบนเปลือก ลำตัว หรือรยางค์
- เปลือกกร่อน รยางค์กร่อน
- ตับและตับอ่อนมีสีซีดหรือมีสีที่เปลี่ยนไป มีขนาดเล็กลงหรือฝ่อลีบ
- ลำไส้ว่างไม่มีอาหาร
- พบกุ้งทยอยตาย หรือมีอัตราการตายมากผิดปกติ
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำมาตรการในการป้องกันการเกิดโรคในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามทั้งระบบตลอดสายการผลิต เพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาพดี แข็งแรง ทนต่อเชื้อโรค ดังนี้
โรงพ่อแม่พันธุ์,โรงเพาะฟัก,โรงอนุบาลในโรงเรือน | บ่ออนุบาลกุ้งวัยรุ่น (บ่อชำ)/ฟาร์มเลี้ยงที่เป็นบ่อดิน |
1. ใช้พ่อแม่พันธุ์ที่ผ่านการตรวจคัดกรองโรคกุ้งก้ามกราม เช่น ไวรัสตัวแดงดวงขาว(WSSV) ไวรัสก่อโรคหัวเหลือง (YHV) โนด้าไวรัส (MrNV/XSV) และ ไวรัสดีไอวี1 (DIV1) เป็นต้น และไม่ใช้แม่พันธุ์ไข่ดำจากบ่อเลี้ยงที่สงสัยหรือมีประวัติการป่วยตายผิดปกติ | 1. ใช้ลูกกุ้งก้ามกรามที่แข็งแรง ปลอดเชื้อก่อโรค เช่น ไวรัสตัวแดงดวงขาว(WSSV) ไวรัสก่อโรคหัวเหลือง (YHV) โนด้าไวรัส (MrNV/XSV) ไวรัสดีไอวี1 (DIV1) และมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ |
2. มีการเตรียมบ่อใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรอบการเพาะพันธุ์และอนุบาล | 2. มีการเตรียมบ่อหรือปรับสภาพพื้นบ่อก่อนปล่อยกุ้งลงเลี้ยงทุกครั้ง โดยควรตากบ่อนานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ร่วมกับการไถพรวนหน้าดินและใส่วัสดุปูน |
3. มีการฆ่าเชื้อในน้ำทุกครั้งก่อนใช้ด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน 50 ppm และทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง | 3. ควรมีบ่อพักน้ำในฟาร์มและเตรียมน้ำทุกครั้งก่อนเริ่มรอบการเลี้ยง เพื่อฆ่าเชื้อโรคและกำจัดพาหะนำเชื้อด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน 65% ในอัตรา 50 กก/ไร่ ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1.2 เมตร โดยระหว่างการเลี้ยงไม่ควรนำน้ำที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อเข้าสู่บ่อเลี้ยง |
4. ควบคุมคุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอได้แก่ ปริมาณออกซิเจน (≥4 มก./ล.) ค่าpH (7.8-8.2) ค่าความเป็นด่าง (≥100 มก./ล.) | 4. ควบคุมปริมาณการให้อาหารระหว่างการเลี้ยงอย่างเหมาะสม และมีการกำจัดสารอินทรีย์ในบ่ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การใช้จุลินทรี เป็นต้น |
5. ควบคุมปริมาณการให้อาหารระหว่างการเลี้ยง อย่างเหมาะสม | 5. ควบคุมคุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยงให้อยู่ในเกณฑ์ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเฉียบพลัน ได้แก่ ปริมาณออกซิเจน (≥4 มก./ล.) ค่าpH (7.8-8.2) ค่าความเป็นด่าง (≥100 มก./ล.) |
6. มีการตรวจสุขภาพลูกกุ้งระหว่างการเลี้ยง อย่างสม่ำเสมอ | 6. เปิดเครื่องให้อากาศระหว่างการเลี้ยงเพื่อให้น้ำในบ่อ มีการหมุนเวียนได้ดีลดการสะสมของเสียที่พื้นบ่อ 7. มีการตรวจสุขภาพและสังเกตพฤติกรรมกุ้งระหว่างการเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ |
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางในการจัดการกรณีพบกุ้งป่วย หรือกุ้งทยอยตาย หรือตรวจพบการติดเชื้อ ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- แจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ เพื่อร่วมหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น ตลอดจนเข้าเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ
- ไม่เคลื่อนย้ายกุ้งและทิ้งน้ำจากบ่อกุ้งป่วยออกสู่ภายนอกฟาร์ม
- กรณีตรวจพบกุ้งติดเชื้อไวรัสและมีอาการป่วยควรดำเนินการตัดวงจรเชื้อโรค ดังนี้
- ใช้สารฆ่าพาหะเพื่อกำจัดกุ้งในบ่อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จากนั้นทิ้งน้ำไว้ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ทำการฆ่าเชื้อไวรัสด้วยการใส่คลอรีน 65% ในอัตรา 50 กก./ไร่ ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1.2 เมตร ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง
- ปล่อยน้ำลงสู่บ่อพัก หรือหากปล่อยสู่แหล่งน้ำภายนอกต้องมั่นใจว่าไม่มีคลอรีนหลงเหลืออยู่เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม หากคงเหลือให้ตากบ่ออีก 24-48 ชั่วโมง หรือเติมโซเดียมไทโอซัลเฟต
- ตากบ่อให้แห้งและให้หยุดกิจกรรมภายในบ่อนานไม่น้อยกว่า 14 วัน
4. กรณีสามารถควบคุมอัตราการตายได้ และต้องการประคองการเลี้ยงจนสามารถจับขายได้ ควรดำเนินการ ดังนี้
- มีการจัดการเลี้ยงที่ดี ควบคุมคุณภาพน้ำ ปริมาณออกซิเจนเพียงพอ และให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม
- ไม่ใช้อุปกรณ์การเลี้ยงร่วมกับบ่ออื่นๆ ที่ไม่พบกุ้งป่วย
- ไม่ปล่อยน้ำบ่อที่ตรวจพบเชื้อออกสู่ภายนอก
- ควบคุมปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อ จัดการการเลี้ยงและคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- เมื่อจับกุ้งขาย ให้ดำเนินการลดเชื้อในน้ำก่อนจับด้วยคลอรีน และจับกุ้งด้วยการลากอวน จากนั้นฆ่าเชื้อในบ่อและน้ำหลังการจับ ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกฟาร์ม
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดและหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำ ได้ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2579 4122 เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/ personel/1272 หรือ Line ID : 443kvkee
กรมประมง ข่าว