ชุมชนต้นเเบบ

609

เกษตรฯ เปิดตัว 3 ชุมชนต้นแบบภาคใต้ปลูกพืชสมุนไพรต้านโควิด

กรมวิชาการเกษตร เปิดตัว 3 ชุมชนต้นแบบปลูกพืชสมุนไพรต้านโควิด 19 จ.สงขลา หนุนชุมชนเกษตรผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิดเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพรและพัฒนาคุณภาพระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน เสริมชุมชนเข้มแข็งพัฒนาสู่การเข้าถึงตลาดดิจิทัลพร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้พืชสมุนไพรโดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร กระชาย และขิง เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น แต่พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่นิยมปลูกพืชสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนี้ เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาการผลิตให้เกิดรายได้แก่ชุมชนได้ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา จึงได้จัดทำโครงการ “ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด 19” ซึ่งสนับสนุนให้ชุมชนผลิตพืชสมุนไพร 3 ชนิด คือ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว และขิง เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านสมุนไพรใช้เป็นยารักษาโรค ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นแหล่งกระจายพันธุ์ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้จากการจำหน่ายผลผลิต ต้นพันธุ์ และแปรรูปเป็นยาสมุนไพรบรรจุแคปซูลต่อไป

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการจัดทำแปลงต้นแบบสมุนไพรชุมชนต้านโควิด 19 จังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กิจกรรมการพัฒนาการผลิต 9 พืชผสมผสานพอเพียง (พืชสมุนไพร) โดยได้ดำเนินการใน 3 ชุมชนต้นแบบ คือ ตำบลรำแดง ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร  และตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30 ราย โดยได้มีการเปิดตัวโครงการ “ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด 19” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประธานชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรต้นแบบในการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การปลูกฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ป่าขาด กระชายสายพันธุ์นครปฐม และขิงสายพันธุ์ทางการค้า รวมถึงการมอบหัวพันธุ์กระชายขาวที่เป็นพืชพันธุ์หายากในท้องถิ่นให้เกษตรกรนำไปปลูกขยายพันธุ์ในพื้นที่ต่อไป

การปลูกฟ้าทะลายโจร สามารถปลูกได้ในสภาพแปลงปลูกแบบยกร่องกว้าง 1.5-2.0 เมตร หรือปลูกในกระสอบปลูกพืชขนาด 20 นิ้ว หรือปลูกใช้วิธีหว่าน อัตราเมล็ดพันธุ์ 1.0-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปลูกแบบย้ายกล้า ระยะปลูก 30 x 40 เซนติเมตร รองหลุมด้วยปุ๋ยคอกและปูนขาว เมื่ออายุ 1 เดือนให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย เมื่ออายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ และเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 77 วัน หรือดอกบานประมาณ 50% ให้ตัดยอดยาว 25 เซนติเมตร จะทำให้ได้สารสำคัญสูง ผลผลิตน้ำหนักสด 3-5 ตันต่อไร่ น้ำหนักแห้ง 777 กิโลกรัมต่อไร่ หรือขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

การปลูกกระชาย เตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องกว้าง 1.5-2.0 เมตร สูง 15-20 เซนติเมตร หรือปลูกในกระสอบปลูกพืชขนาด 20 นิ้ว ไถเตรียมดินปลูกให้ลึก 20 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะกับการผลิตหัว ส่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคเน่า ควรอบดินเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว อัตราส่วน 1:10 คลุกให้เข้ากับดินรดน้ำ และตบดินให้แน่น ทิ้งไว้ 7 วัน ใช้ระยะปลูก 10×15 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตสูง หรือ 25×15 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี เมื่ออายุ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เมื่ออายุ 4 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8-9 เดือน จะให้สารสำคัญสูงสุด

การปลูกขิง เตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องกว้าง 1.5-2.0 เมตร สูง 15-20 เซนติเมตร หรือปลูกในกระสอบปลูกพืชขนาด 20 นิ้ว ไถเตรียมดินปลูกให้ลึก 20 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะกับการผลิตหัว ส่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคเน่า ควรอบดินเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว อัตราส่วน 1:10 คลุกให้เข้ากับดินรดน้ำ และตบดินให้แน่น ทิ้งไว้ 7 วัน ใช้ระยะปลูก 20×50 เซนติเมตร เมื่ออายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เมื่ออายุ 4 เดือนใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บเกี่ยวขิงอ่อนช่วงอายุ 4-5 เดือน และเก็บเกี่ยวขิงแก่ช่วงอายุ 8-12 เดือน

โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตรมีการปลูกสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส เพื่อเป็นแหล่งบริการพันธุ์และความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.จังหวัด) และสำนักวิจัยและพัฒนา การเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 0-7444-5905

กรมวิชาการเกษตร ข่าว