กรมข้าว จับมือ มช. ปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยลำไอออน ต้านทานโรค ผลผลิตสูง
วันที่ 8 กันยายน 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โดยจะเป็นการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเด่นจากกรมการข้าว จำนวน 5 สายพันธุ์ มาปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำ และคัดเลือกให้ได้สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ดี สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีผู้แทนจากทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นผู้ลงนาม ประกอบด้วย นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว และศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีนายสถาพร ตัมพวิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ กองวิจัยและพัฒนาข้าว นายนิพนธ์ บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ร่วมเป็นพยานการลงนามในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ สำนักงานงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายอาชว์ชัยชาญ เปิดเผยหลังการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวนโยบายในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาให้ดีขึ้น เนื่องจากชาวนาไทยยังคงเป็นกลุ่มอาชีพอันดับต้น ๆ ที่ประสบปัญหาหนี้สิน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือพันธุ์ข้าวไทยที่ชาวนาปลูกนั้น เป็นข้าวเพื่อการบริโภค (table rice) เป็นหลัก ซึ่งข้าวเพื่อการบริโภคนั้นเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ประเทศคู่แข่งเอง เช่น ประเทศเวียดนามและอินเดีย สามารถผลิตข้าวได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า ประเทศไทย จึงทำให้เกิดกดราคาข้าวให้ต่ำลงเพื่อที่จะสามารถแข่งขันด้านการส่งออกข้าวกับต่างประเทศได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาการรับซื้อข้าวจากชาวนาในประเทศลดน้อยลง ไม่คุ้มต้นทุน ทำให้ชาวนาไทยต้องประสบกับความยากจนและเกิดภาระหนี้สิน จึงได้มอบหมายให้ กรมการข้าว ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU)เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนและแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รวมไปถึงปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่ระบาดเพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการนำเทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า การนำเทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำมาช่วยในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวนั้น ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้ข้าวเกิดการกลายพันธุ์แตกสาขาออกมาอีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เราสามารถเลือกพันธุ์ต่างๆที่มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไปมาพัฒนาต่อยอดได้ อาทิ พันธุ์ข้าวที่สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว พันธุ์ข้าวที่มีความทนทานต่อโรคแมลงและโรคระบาด ในรายแรกกรมการข้าวได้คัดพันธุ์ดีเด่นจำนวน 5 สายพันธุ์ มาทดลอง หลังจากนั้นจะนำข้าวที่ผ่านการปรับปรุงไปทดลองปลูกในพื้นที่ของกรมการข้าวต่อไป
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวกว่าวิธีดั้งเดิมมาก คือ “เทคโนโลยีกระตุ้นการกลายพันธุ์ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง ซึ่งได้ข้าวพันธุ์ใหม่มากกว่า 150 สายพันธุ์และได้นำไปส่งเสริมการเพาะปลูก ทั้งในภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันตก คือ 1. ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) ที่มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอม 2. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4) 3. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23) เพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญระบาด เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งข้าว 3 สายพันธุ์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ของชาวนาไทยในยุค 4.0 อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
กรมการข้าว ข่าว