อัดม้วนใบอ้อยเเทนการเผา

1,750

อัดม้วนใบอ้อยเเทนการเผา

กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนเกษตรกรอัดม้วนใบอ้อยขายสร้างรายได้ ลดการเผา

          ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรได้ทราบถึงข้อดีและประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และวิธีการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งข้อเสียที่เกิดจากการเผา เพื่อสร้างจิตสำนึกและทำให้เกิดการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

          เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ชุมชนปลอดการเผา ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเยี่ยมชมแปลงเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่มีการจัดการเศษใบอ้อยโดยการขับรถอัดแล้วม้วนเศษใบอ้อยให้เป็นฟ่อน ส่วนใบอ้อยที่เหลือทำการไถกลบเพื่อให้เป็นปุ๋ยในดินสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป ซึ่งในพื้นที่ปลูกอ้อยเมื่อใช้เครื่องตัดอ้อยแล้วจะเหลือเศษใบอ้อย ไร่ละประมาณ 1-1.5 ตัน โดยเศษใบอ้อยที่อัดม้วนแล้ว จะมีน้ำหนักม้วนละ 130 กิโลกรัม ราคาขายประมาณตันละ 800  บาท เมื่อคำนวณแล้วเกษตรกรจะมีรายได้จากเศษใบอ้อยเฉลี่ยกว่าไร่ละ 1,000 บาท หากมีพื้นที่ 40 ไร่ ก็จะสามารถสร้างรายได้จากเศษวัสดุประมาณ 4- 5 หมื่นบาท

“เปรียบเทียบกับราคาปุ๋ยที่ต้องลงทุนซื้อมาใช้ ราคาประมาณ กระสอบละ 600 บ./ไร่ เกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยสองครั้งต่อรอบการผลิต ดังนั้น เกษตรกรต้องลงทุนค่าปุ๋ยประมาณ 1,200 บ./ไร่ เมื่อพิจารณาระหว่างการเผาซึ่งจะทำให้ศูนย์เสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน ทำให้ต้องใส่ปุ๋ยสองกระสอบหรือมากกว่านั้นต่อไร่ในหนึ่งรอบการผลิต เปรียบเทียบกับการไม่เผา โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรอัดม้วนเศษใบอ้อยจำหน่าย จะทำให้ได้ต้นทุนค่าปุ๋ยในรอบการผลิตต่อไป และไม่สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน ทำให้ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยมากในปรับปรุงดิน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ดังนั้นการไม่เผาใบอ้อย จึงสร้างประโยชน์แก่เกษตรกร ในการลดต้นทุนการเกษตรได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเกษตรกรจะต้องจ่ายค่าน้ำมันเครื่องจักร แต่ยังคงมีรายได้จากการขายเศษวัสดุกลับคืนมาเกินกว่าค่าน้ำมันเครื่องจักร ต่างกับการเผาที่จะไม่เกิดรายได้เลย  สำหรับเครื่องจักรในการทำอัดม้วนใบอ้อย หากเกษตรกรต้องการซื้อมาใช้งานเอง หรือรวมกลุ่มกันซื้อ ก็สามารถเลือกซื้อเครื่องจักรมือสองมาใช้ได้ ซึ่งราคาจะอยู่ที่ประมาณสองแสนบาท สามารถใช้ได้ในระยะยาว หรือว่าจ้างเกษตรกรที่มีเครื่องจักรรับจ้างอัดม้วนโดยตรงได้เช่นกัน ในอนาคตกรมส่งเสริมการเกษตร ได้วางแผนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อบริหารจัดการเครื่องจักรร่วมกัน อันจะเป็นการลดการลงทุนและค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรได้ต่อไป

 “เกษตรร่วมใจ รับมือภัยแล้ง ปี 2563”

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : นาฏสรวง ข่าว, กุมภาพันธ์ 2563