เน้นเเผนพัฒนาประมงน้ำโขงยั่งยืน

709

กรมประมงยันร่วมมือกับทุกภาคส่วน เน้นแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

จากกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกลุ่มเสรีภาพและภาคประชาสังคมได้ส่งจดหมายเปิดผนึกขอให้กรมประมงทบทวน
การเสนอแผนเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 261 ล้านบาท จาก บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำโขง กรมประมงขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทางบริษัทฯ ได้ขอเข้าพบกับทางกรมประมงเพื่อหารือการดำเนินโครงการฯ สำหรับฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในประเทศไทย ซึ่งกรมประมงได้ร่างโครงการเพื่อเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและประชาชนในลุ่มน้ำโขงให้ได้ประโยชน์สูงสุดเท่านั้น และได้แจ้งอย่างชัดเจนว่า ทางบริษัทฯ สามารถปรับแก้ไขได้ตามความเหมาะสมและสามารถดำเนินการหรือเข้าไปสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ให้ดำเนินการได้เอง โดยไม่ต้องนำมามอบให้กรมประมงเป็นผู้ดำเนินงาน เนื่องจากกรมประมงมีแผนปฏิบัติการด้านการประมงน้ำจืด พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งเกิดจากการนำข้อมูลจากหลายส่วนมาพิจารณาความสอดคล้องร่วมกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและบำรุงรักษาระบบนิเวศในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ  

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “แม่น้ำโขง” เป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำและปริมาณสัตว์น้ำมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาความแปรปรวนของน้ำที่ลดระดับลงหลายจุดจนมีระดับน้ำต่ำสุดแห้งขอดผิดปกติ ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนและสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศแม่น้ำมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2562 กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 337/2564 ลงวันที่ 22 เมษายน 2564
และได้มอบหมายให้กรมประมงจัดทำแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 ในพื้นที่
7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกฝ่ายให้ทรัพยากรประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนและรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประกอบด้วย แนวทางการพัฒนา 2 แนวทาง ได้แก่ 1. พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร 2. การบริหารจัดการด้านการประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและมีความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับแผนพัฒนาฯ เป็นการรวบรวมแผนจากคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนด้านการประมง ระดับจังหวัด โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ทำการประมงในพื้นที่เป็นคณะอนุกรรมการ และมีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่อย่างครอบคลุม ซึ่งมีกำหนดเสนอแผนพัฒนาดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ในเดือนธันวาคม 2564 นี้

2. กรมประมงได้บรรจุแผนงานของแม่น้ำโขงไว้ในแผนปฏิบัติงานด้านที่ 4 สนับสนุนและสร้างเสริมการบริหารจัดการด้านการประมงในแหล่งน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชายแดน ภายใต้แผนปฏิบัติการประมงน้ำจืดปี พ.ศ. 2566 – 2570
ซึ่งเป็นแผนระดับชาติ มีเป้าหมายฟื้นฟูแหล่งอาศัยและสร้างเสริมความสมบูรณ์ของประชากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชายแดนโดยมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการดำเนินโครงการที่สำคัญจำนวน 20 โครงการย่อย อาทิ โครงการฟื้นฟูปลาแม่น้ำโขงหายากใกล้สูญพันธุ์คืนถิ่น โครงการเสริมสร้างศักยภาพชาวประมงและชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โครงการเสริมสร้างยุวประมง
เพื่อบริหารจัดการประมงแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 478.50 ล้านบาท   

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและให้ให้คำแนะนำเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรพร้อมขับเคลื่อนและวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขง คือ พี่น้องประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจะต้องเข้าใจ ยอมรับ และปรับตัวภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น ดังนั้น การติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์จากทางภาครัฐอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่แถบภาคอีสานในตอนนี้ ซึ่งกรมประมงได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านระบบโซเชียลมีเดียที่สามารถกระจายข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการเตือนภัย การให้คำแนะนำข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ หรือการรับแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยได้อย่างรวดเร็วก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรในพื้นที่ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ กรมประมงได้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ในการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อส่งเสริมและประสานงานรวมถึงจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน ในการบริหารจัดการร่วมกันของทุกประเทศสมาชิก เนื่องจากแม่น้ำโขงไม่ได้อยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว

 รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและวิถีชีวิตชาวประมงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงให้เร็วที่สุด และได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านการประชุมคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง โดยทุกโครงการจะต้องมีการดำเนินงานอย่างถูกต้อง โปร่งใส สร้างความสมบูรณ์และคงความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำอันจะเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ได้จากผลงานของกรมประมงที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีและดีเด่นถึง 8 ปีติดต่อกัน (พ.ศ.2557 – 2564) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่ากรมประมงยึดมั่นหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานอย่างที่สุด พร้อมรับฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคการประมงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

กรมประมง ข่าว