กรมประมง ระดมทีมนักวิจัย เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง “ปลาพลวงชมพู”
กรมประมงระดมทีมนักวิจัยหัวกะทิ จัดทำ “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู” เพื่อพัฒนาการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สอดรับกับนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ชายแดนใต้ สามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปลาพลวงชมพู (Tor douronensis) เป็นปลาน้ำจืดหายากประจำท้องถิ่นในจังหวัดยะลาและนราธิวาส ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากมีรสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 – 3,500 บาท ทำให้ปลาชนิดนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากปลาพลวงชมพูเป็นปลาที่โตช้า ดูแลค่อนข้างยาก ซึ่งจากการศึกษาของกรมประมงพบว่าปลาชนิดนี้โดยธรรมชาติสามารถวางไข่ได้ปีละ 1 ครั้ง และได้ไข่เพียง 500 ฟองต่อแม่ ที่สำคัญการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูโดยวิธีผสมเทียมในแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูที่รวบรวมจากธรรมชาติ เนื่องจากปลาพลวงชมพูรุ่นลูกที่นำมาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ยังไม่สามารถนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ได้เพราะไม่มีความสมบูรณ์เพศ อีกทั้ง ขั้นตอนการฟักไข่แบบเดิมในบ่อซีเมนต์ยังประสบกับปัญหาการติดเชื้อราทำให้ไข่มีอัตราฟักเป็นตัวต่ำ จึงจำเป็นต้องเร่งศึกษาเพื่อพัฒนาการวิจัยในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
ล่าสุด กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ร่วมกับ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู” เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตลูกปลาพลวงชมพู โดยมีเป้าหมายให้พ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูรุ่นลูกมีความสมบูรณ์เพศจนนำมาใช้เพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียมได้ และสามารถผลิตไข่พร้อมลูกพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีอัตราการรอดสูง เพียงพอสำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปต่อยอดเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ให้สัตว์น้ำชนิดนี้คงอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2564 – 2566 ) อีกทั้งในปี 2564 ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) อีกด้วย
นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูให้มีความสมบูรณ์เพศ โดยการใช้สารเสริมในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์และเพิ่มคุณภาพของไข่ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้ง ได้มีการพัฒนาระบบฟักไข่ปลาพลวงชมพูแบบราง โดยใช้ระบบน้ำไหลผ่านแบบหมุนเวียนที่มีระบบการควบคุมอุณหภูมิของน้ำแบบอัตโนมัติ มีการฆ่าเชื้อในน้ำโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลท ตลอดจนพัฒนาต้นแบบระบบการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูในโรงเพาะฟักอัจฉริยะแบบปิด ที่มีระบบทำความเย็นแบบ Evaporative Cooling System และใช้ระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculating water system) ที่มีระบบการควบคุมคุณภาพของน้ำแบบอัตโนมัติทั้งในช่วงระยะเวลาเลี้ยงและระยะเวลาก่อนการผสมพันธุ์เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์เพศของพ่อแม่พันธุ์ จนกระทั่งสามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้ในที่สุด
สำหรับผลการทดลองเบื้องต้นของการให้พ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูรุ่นลูกที่ได้จากการเพาะพันธุ์ในปี 2556 (รุ่น P0) กินสารเสริมที่มีรงควัตถุแคโรทีนอยด์ และเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน ที่มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำแบบอัตโนมัติ พบว่าสามารถกระตุ้นให้พ่อแม่พันธุ์รุ่นลูก (รุ่น P0) มีความสมบูรณ์เพศมากขึ้น พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์วางไข่และการใช้ทดลองเพาะพันธุ์ โดยจากผลการทดลองเพาะพันธุ์ในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สามารถคัดเลือกแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูที่มีไข่สมบูรณ์ได้จำนวน 45 ตัว นำมาเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูโดยวิธีผสมเทียม จำนวน 8 ครั้ง จนประสบความสำเร็จสามารถรีดไข่ผสมเทียมได้ จำนวน 21 ตัว คิดเป็นร้อยละ 47 ได้ลูกพันธุ์ปลาพลวงชมพูทั้งหมด จำนวน 12,043 ตัว และยังมีแนวโน้มที่ดี เมื่อพบว่า ในเดือนมิถุนายน – กันยายน สามารถทำการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู ได้อีก 3 ครั้ง โดยสามารถคัดเลือกแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูที่มีไข่สมบูรณ์ได้จำนวน 14 ตัว นำมาเพาะพันธุ์ และประสบความสำเร็จในการรีดไข่ผสมเทียมจำนวน 8 ตัว คิดเป็นร้อยละ 57 ได้ลูกพันธุ์ปลาพลวงชมพูทั้งหมด จำนวน 4,366 ตัว ซึ่งจากผลสำเร็จของกรมประมงในครั้งนี้นับว่า จะเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ตลอดจนการพัฒนาระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบฟักไข่ปลาพลวงชมพูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้ได้ปริมาณมากอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่สามารถนำพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูรุ่นลูกที่ได้จากการเลี้ยงของกรมประมงนำมาใช้เพาะพันธุ์ได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ปลาพลวงชมพูในธรรมชาติที่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ และที่สำคัญเป็นการวางระบบการเลี้ยง การจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพู ให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาได้อย่างต่อเนื่อง ขยายผลไปสู่เกษตรกรให้เลี้ยงในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคต
กรมประมง ข่าว