เกษตรฯ เข้มการตรวจสอบย้อนกลับ เพิ่มไก่งวงและนกกระทาเป็นสัตว์ตามพรบ.โรงฆ่าสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายมุ่งมั่น “เกษตรไทย มาตรฐานโลก” โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ดันผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลก เพิ่มมูลค่าการส่งออก และยกระดับเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตและรายได้เพิ่มนั้น กรมปศุสัตว์รับสนองนโยบาย โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบและควบคุมการผลิต ตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ โรงแปรรูป และสถานที่จำหน่าย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหาร ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเนื้อสัตว์กรณีโรคสัตว์ระบาด มีระบบตรวจสอบย้อนกลับในทุกขั้นตอนการผลิต สามารถใช้ข้อมูลจากการตรวจสอบย้อนกลับในการเรียกคืนสินค้าหรือแจ้งเตือนภัยตามระบบแจ้งเตือนภัยและอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าที่มีข้อกำหนดในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับสินค้านำเข้าอีกด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ร่างกฎกระทรวง การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ.2564 โดยล่าสุดได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564
กฎกระทรวง การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ.2564 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลของเนื้อสัตว์ตลอดกระบวนการผลิตและการเรียกคืนเนื้อสัตว์ และเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย มีสาระสำคัญ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานท้องถิ่น พนักงานตรวจโรคสัตว์ และผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ มีการจัดเก็บข้อมูล ประกอบด้วย 1. ใบแจ้งและตอบรับการแจ้งฆ่าสัตว์ 2. รายงานการตรวจโรคสัตว์ก่อนและหลังการฆ่าสัตว์ และ 3. รายงานรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ให้เก็บข้อมูลทั้งหมดไว้อย่างน้อย 1 ปี โดยถ้าไม่เก็บมีกำหนดโทษพักใช้หรือเพิกถอนเฉพาะโรงฆ่าสัตว์นั้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เพื่อให้ครอบคลุมชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ และเพื่อความปลอดภัยอาหารของผู้บริโภคยิ่งขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบัน มีผู้บริโภคไก่งวงและนกกระทาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีมาตรการตรวจสอบ ควบคุมหรือป้องกันมิให้โรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ติดต่อมาสู่คน รวมถึงตรวจสอบสารตกค้างในเนื้อสัตว์ดังกล่าว ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย สมควรกําหนดให้ ไก่งวงและนกกระทา เป็น “สัตว์” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 จึงได้ร่างกฎกระทรวง กำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ.2564 กำหนดให้ ไก่งวงและนกกระทา เป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ ซึ่งแปลว่า การฆ่าไก่งวงและนกกระทาต้องทำในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาต โดยได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ที่ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ สำหรับนกกระทาและไก่งวงจึงมีระยะเวลา 180 วันนับแต่วันที่ประกาศฯ ที่จะขออนุญาตให้ได้โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตก่อนเป็นโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ซึ่งหากไม่ทำตามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้สามารถทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือวิกฤตด้านอาหารได้ สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่การผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงช่วยควบคุมให้สินค้ามีความปลอดภัยอาหารและถูกสุขอนามัย สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เพิ่มมูลค่าการส่งออก สร้างรายได้ให้เกษตรกรและประเทศได้ต่อไป
กรมปศุสัตว์ ข่าว