กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

889

โครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ ตอบโจทย์ สร้างเกษตรกรสู่ผู้ประกอบธุรกิจเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 63 – 31 ธันวาคม 2564 วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสม และยกระดับการผลิตสินค้าคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยกลุ่มแปลงใหญ่เสนอโครงการและแผนการใช้งบประมาณเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร ปัจจัยการผลิต ตามความต้องการของกลุ่ม จำนวน 3,379 แปลง  ดำเนินการใน 70 จังหวัด งบประมาณ 9,355.73 ล้านบาท  

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ในการนี้ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ร่วมกันติดตามประเมินผลโครงการ พบว่า ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มแปลงใหญ่ทั้ง 3,379 แปลง ได้รับงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร และปัจจัยการผลิตครบทั้ง 3,379 แปลง โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่ จำนวน 3,121 แปลง ดำเนินการจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว รวมงบประมาณเบิกจ่าย 8,182.10 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จัดซื้อเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร อาทิ รถแม็คโครขุดดิน รถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ผาน เครื่องอัดฟาง เครื่องผสมปุ๋ย ก่อสร้างโรงเรือน สร้างระบบน้ำ รถบรรทุกขนส่งสินค้า และขณะนี้กลุ่มแปลงใหญ่ อยู่ระหว่างการส่งมอบเครื่องจักรกลทางการเกษตร ปัจจัยการผลิต โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง และอื่น ๆ ตามแผนการดำเนินโครงการ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  และลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่

ตัวอย่างผลสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ เห็นได้ชัดจากกลุ่มแปลงใหญ่เห็ดโนนแก้ว ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ โดยทางกลุ่มฯ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 3 ล้านบาท เมื่อเดือนมีนาคม 2564 และได้รับงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อก่อสร้างโรงเรือนระบบ EVAP โรงคัดแยกเห็ด ตู้แช่เย็น เครื่องอัดก้อนเห็ด รถบรรทุกขนาดเล็กสำหรับขนส่ง และวัสดุอื่น ๆ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในเดือนตุลาคม 2564 สามารถต่อยอดเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรในชุมชน ควบคุมคุณภาพ และปริมาณการผลิตได้ตามที่ตลาดต้องการมีการขนส่งไปถึงมือผู้บริโภคได้ในระยะเวลาที่กำหนด สำหรับด้านค่าใช้จ่าย พบว่า เมื่อเริ่มใช้เครื่องมืออุปกรณ์ ทางกลุ่มฯ  มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 45,000 บาท/โรงเรือน/ปี (ขนาดบรรจุ 4,000 ก้อน) ด้านการผลิตและรายได้ ปัจจุบันทางกลุ่มมีโรงเรือนทั้งหมด 7 โรงเรือน ซึ่งใน 1 รอบการผลิต สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางฟ้า เห็ดโคนน้อย ได้ทุกวันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผลผลิตเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัม/โรงเรือน/ปี ราคาจำหน่ายเฉลี่ย 50 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้ทางกลุ่มฯ มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายรวมกว่า 735,000 บาท/ปี  ด้านการตลาด กลุ่มได้รับการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากพ่อค้าในตลาดจังหวัดบึงกาฬ ในอำเภอโซ่พิสัย ตลาดปากคาด และในจังหวัดอุดรธานี ตลาดเมืองทองอุดรธานี  เป็นการต่อยอดการขยายตลาดได้อย่างยั่งยืน

“เห็นได้ว่าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนเกษตร มีการพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพได้ตรงความต้องการของตลาด โดยจากการสอบถาม กลุ่มเกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ ต่างพึงพอใจต่อโครงการเป็นอย่างมาก เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งการระบาดของโควิด-19 โครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ สามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างกลุ่มเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรในชุมชน สอดคล้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับผลการประเมินผลโครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ ในภาพรวม คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2564 สศก.จะนำเสนอในรายละเอียดให้ทราบต่อไป” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว