เกษตรฯ รับมือน้ำน้อย เน้นปลูกพืชฤดูแล้ง

826

เฉลิมชัยวางแผนเชิงรุก จัดโครงการรับมือน้ำน้อย เน้นปลูกพืชฤดูแล้งให้เกษตรกร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในปี 2564/2565 นี้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2565) พบว่า สถานการณ์น้ำต้นทุนตามแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณจำกัด ซึ่งคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ได้มีมติเห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 64/65 ซึ่งกำหนดให้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการพื้นที่เข้าร่วมประชุมจึงได้กำหนดแผนให้สอดคล้องแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 64/65 โดยกำหนดพื้นที่การเพาะปลูก ทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่  และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการสนับสนุนการปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยเพื่อทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 และรองรับการทำการเกษตรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการที่เน้นส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า จำนวน 3 โครงการ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรในช่วงที่น้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัด ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และมีความรู้ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง โดยมีการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 2,500 ราย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เน้นส่งเสริมความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 2,000 ราย และจัดทำแปลงเรียนรู้ 194 แปลง พื้นที่ 582 ไร่ ใน 36 จังหวัด โดยในทุกระยะการผลิต จะมีนักส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำตลอดโครงการ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ในเขตภาคเหนือ เขตภาคอีสาน และเขตภาคกลาง ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าพืชไร่อีกด้วย และโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง มีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ เกษตรกร 6,572 ราย พื้นที่ 6,572 ไร่ 18 จังหวัด โดยจัดเวทีเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลาย เชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิต และสนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลายทดแทนการทำนาปรัง ตั้งแต่กระบวนผลิตจนถึงการจำหน่าย ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มจัดทำแปลงเรียนรู้ และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากจุดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่นาปรัง

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า  นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ จัดทีมลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร พร้อมเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 ซึ่งเป็นพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และมีตลาดรองรับ สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่เคยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกพื้นที่พร้อมจะให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรตลอดโครงการ หากสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดของแต่ละโครงการได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว