ระวังโรคขี้ขาวในกุ้ง

2,228

กรมประมงเตือน เฝ้าระวังโรคขี้ขาวในกุ้งขาวแวนนาไม

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ด้วยในช่วงระยะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยบางพื้นที่มีอากาศหนาวในตอนเช้าและร้อนขึ้นในตอนกลางวัน และบางแห่งยังคงมีฝนตกชุกอยู่ ซึ่งสภาพอากาศเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่มีการเลี้ยงอย่างหนาแน่นในบ่อดินแบบระบบเปิด เช่น กุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นกุ้งทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยอาจทำให้เกิดโรคจากเชื้อก่อโรค เช่น แบคทีเรียกลุ่มวิบริโอ และไวรัส ในระหว่างการเลี้ยงได้ นอกจากนี้ ยังพบอาการขี้ขาว ซึ่งเป็นอาการผิดปกติแบบเรื้อรัง โดยมักพบในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวที่มีการเลี้ยงอย่างหนาแน่น เปลี่ยนถ่ายน้ำน้อย ซึ่งทำให้ระบบทางเดินอาหาร เซลล์ตับ ตับอ่อน และลำไส้ของกุ้งเกิดการอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดูดซึมอาหารที่ลดต่ำลง

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
รองอธิบดีกรมประมง

โดยเกษตรกรสามารถสังเกตอาการขี้ขาวของกุ้งขาวแวนาไมได้จากตัวกุ้ง โดยในส่วนของลำไส้จะมีสีขาวหรืออาหารไม่เต็มลำไส้ และพบขี้ขาวลอยอยู่บนผิวน้ำจำนวนมาก กุ้งกินอาหารน้อยลง เปลือกบาง โตช้า ขนาดตัวเริ่มแตกต่าง และจะทยอยตายลงเรื่อย ๆ  สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 1 เดือนจนกระทั่งใกล้จับขายอย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายท่านให้ความเห็นว่า อาการขี้ขาวเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซับซ้อน ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีอะไรเป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งอัตราการตายขึ้นอยู่กับปริมาณและความรุนแรงเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อร่วมกับเชื้อก่อโรคอื่น เช่น กรีการีน, ไวรัส, รา (EHP) คุณภาพน้ำที่เลี้ยง และความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหา รวมถึงความพร้อม และความรวดเร็วของการแก้ไขปัญหาของผู้เลี้ยง เป็นต้น

กรมประมงจึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษาอาการขี้ขาวตามคำแนะนำ ดังนี้

  1. การเตรียมบ่อ โดยควรกำจัดเลน และตากบ่อ ฆ่าเชื้อ เตรียมน้ำใช้ที่ดี กำจัดพาหะ รวมถึงปล่อยกุ้งในปริมาณที่เหมาะสม
  2. หมั่นตรวจสุขภาพกุ้งอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขตามสาเหตุที่พบทันที
  3. ควบคุมคุณภาพและปริมาณการให้อาหารให้เหมาะสม กรณีพบกุ้งกินอาหารน้อยลง ให้ลดปริมาณอาหาร โดยอาจมีการปรับและสับเปลี่ยนยี่ห้ออาหารบ้าง ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม เช่น ลดปริมาณแอมโมเนีย ไนไตร์ต ควบคุมปริมาณแพลงก์ตอน โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพิ่มการให้อากาศ ลดปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อ โดยเติมเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดคุณภาพน้ำ
  4. ตรวจสอบปริมาณแบคทีเรียในน้ำ หากพบว่ามีปริมาณมากกว่าค่ามาตรฐาน ให้ใช้สารฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน เป็นต้น เพื่อลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในน้ำ
  5. ใช้สมุนไพรที่ให้ผลในการลดการติดเชื้อและการอักเสบของลำไส้ เช่น ข่า ขมิ้นชัน กล้วย กระเทียม บดผสมอาหาร ให้กุ้งกิน

ไม่ควรใช้ยาที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ยาม่วง หรือ เยนเชียนไวโอเลต (gentian violet) หรือ คริสตัลไวโอเลต (crystal violet) ที่ใช้รักษาโรคในคน แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่การนำยาม่วง มาใช้ในการรักษาโรคสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะอาการขี้ขาวที่พบในกุ้งขาวนั้น  ยังไม่มีงานวิจัยรองรับถึงประสิทธิภาพการรักษา  เนื่องจากอาการขี้ขาว ซึ่งมีสาเหตุที่ซับซ้อน ไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่ามีสาเหตุสำคัญจากอะไร นักวิจัยด้านสุขภาพสัตว์น้ำ มีการวิจัยวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่หลากหลายแตกต่างกันตามบริบทการจัดการการเลี้ยงของแต่ละฟาร์ม  อย่างไรก็ตาม การใช้ยาม่วง เพื่อรักษาอาการขี้ขาวในกุ้งขาว เป็นการใช้ยาที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ได้เป็นคำแนะนำของกรมประมง จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรไม่ควรนำมายาม่วงมาใช้ในการรักษาโรคสัตว์น้ำที่นำมาบริโภค  เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และการค้าสัตว์น้ำระหว่างประเทศได้

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า  การรักษาโรคสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ต้องวิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค แล้วทำการป้องกัน ควบคุม และรักษาให้ตรงสาเหตุที่สุด  สำหรับการใช้ยารักษาโรคในสัตว์น้ำ นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องให้ความสำคัญ ทำด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้คำแนะนำของนายสัตวแพทย์ หรือนักวิชาการประมงด้านสุขภาพสัตว์น้ำ เพื่อเป็นการลดผลกระทบเชิงลบจากการใช้ยา เกษตรกรควรมีการป้องกันโรคสัตว์น้ำที่ดี โดยยึดหลักการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีและหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ  

ทั้งนี้ หากเกษตรกรประสบปัญหาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อได้ที่เบอร์ โทร. 0-2562-0600-15  และหากต้องการส่งสัตว์น้ำตรวจวินิจฉัยโรค สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2561-5412 หรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ สงขลาโทร. 0-7433-5244-5 เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/personel/1272 หรือ Line ID : 443kvkee

กรมประมง ข่าว