ตามเป้า One Stop Service – ธุรกิจดินปุ๋ย

869

เกษตรฯ เผยเกษตรกรปลื้ม One Stop Service – ธุรกิจดินปุ๋ย สำเร็จตามเป้า เร่งผลักดันระยะที่ 2

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันทั่วประเทศมี ศดปช. จำนวน 882 ศูนย์ และต่อมาในปี 2560 ศดปช. ถูกจัดให้เป็นเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านดินและปุ๋ยในพื้นที่ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว บริการวิชาการด้านดินและปุ๋ย ให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืชนั้น ขณะนี้ทุกจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการได้ดำเนินการใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเข้าสู่การดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจกลุ่มเป้าหมายที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการนำเสนอข้อมูลเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนภาคใต้ มี ศดปช. จำนวน 177 ศูนย์ เป็นศูนย์หลัก 151 ศูนย์ และศูนย์เครือข่าย 26 ศูนย์ มี ศดปช.เข้าร่วมโครงการ จำนวน 58 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด งบประมาณรวม 24,231,840 บาท โดยเบื้องต้นมีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน (Soil test kit) แม่ปุ๋ย และเครื่องผสมปุ๋ยแก่ ศดปช. ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน แปลผลให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น จัดหาปุ๋ยคุณภาพดี และบริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป ขณะนี้ได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 16,617 ตัวอย่าง จากเป้าหมาย 15,776 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 105.33  ให้บริการผสมปุ๋ยแล้ว 1,114.91 ตัน คิดเป็นร้อยละ 320.38 และจำหน่ายปุ๋ยให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 22,680 กระสอบ จากเป้าหมาย 6,960 กระสอบ คิดเป็นร้อยละ 325.86 ซึ่ง ศดปช. ที่ให้บริการมีใบอนุญาตขายปุ๋ยกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง พร้อมให้บริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนแก่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ และศดปช. ที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการวางแผนธุรกิจในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานจึงเร่งขับเคลื่อนพัฒนาต่อยอดให้มีต้นแบบ ศดปช. 1 จังหวัด 1 โมเดลธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนตัวอย่าง เช่น ศดปช.ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี สำหรับความต้องการในการเข้าร่วมโครงการ One Stop Service ในระยะที่ 2 ของภาคใต้มีเกษตรกรให้ความสนใจแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 12 จังหวัด รวม 46 ศูนย์ ซึ่งเป็นเกษตรกรสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป รวมจำนวน 4,141 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 24,387 ไร่

ด้านดาบตำรวจสมนึก โมราศิลป์ ประธาน ศดปช.ตำบลราชกรูด เผยว่า แรกเริ่มได้นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในแปลงปาล์มน้ำมันมาทำปุ๋ยหมัก และเป็นฐานเรียนรู้ของ ศพก. ต่อมาได้จัดตั้งเป็น ศดปช. เดิมมีสมาชิกที่ร่วมถือหุ้นจำนวน 64 ราย มีเงินทุนเรือนหุ้น 330,000 บาท มีศูนย์เครือข่ายจำนวน 2 ศูนย์ (ตำบลหงาวและตำบลหาดส้ม) ปัจจุบันเปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติม รวมเป็น 108 ราย ศูนย์ฯ ได้มีแผนการดำเนินธุรกิจให้บริการรวบรวมและจัดหาแม่ปุ๋ย ผสมปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินให้แก่สมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน แปลงใหญ่มังคุด และเกษตรกรทั่วไปในชุมชน รวมพื้นที่ประมาณ 500 ไร่  มีการเชื่อมโยงกับ ศพก.หลัก และแปลงใหญ่ โดย ศดปช. มีจุดเด่น คือ คณะกรรมการเข้มแข็งมีความมุ่งมั่นเสียสละ มีการประชุมวางแผนทุกขั้นตอน มอบหมายหน้าที่ปฏิบัติงานที่ชัดเจน ทั้งการบริการตรวจวิเคราะห์ดิน แปลผลและให้คำแนะนำ เปิดบริการผสมปุ๋ยทุกวันพุธ คิดค่าผสมปุ๋ยกระสอบละ 20 บาท โดยได้ให้บริการผสมปุ๋ยไปแล้ว จำนวน 1,553 กระสอบ หรือ 77,650 กิโลกรัม และมีใบสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง หลังจากได้เข้าร่วมโครงการในช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา เกษตรกรใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันจำนวน 2 รอบ พบว่าราคาปุ๋ยผสมถูกกว่าท้องตลาดเฉลี่ยกระสอบละ 110 บาท สามารถลดต้นทุนให้เกษตรกรในพื้นที่ 500 ไร่ ได้ร้อยละ 12.4 ต่อไร่ต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังให้บริการขนส่งสำหรับเกษตรกรที่ไม่สามารถมารับปุ๋ยที่ ศดปช. ได้ โดยคิดค่าบริการ 100 บาทต่อปริมาณปุ๋ย 1 ตัน และสมาชิกจะได้รับเงินปันผลทุกปี ขณะนี้กลุ่มได้เปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานธุรกิจ เป็นการสร้างเครือข่ายโดยรักษากลุ่มลูกค้าเดิม และขยายผลไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ผ่านการประชาสัมพันธ์ช่องทางออนไลน์ และช่องทางต่างๆ การสำรวจราคาปุ๋ยแต่ละบริษัทโดยเลือกบริษัทที่มีการจำหน่ายปุ๋ยคุณภาพ สามารถจัดส่งปุ๋ยได้และราคาถูกกว่าท้องตลาด และติดตามให้ความรู้และให้บริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระนอง ภายใต้สโลแกน “ศดปช.ราชกรูด ถ่ายทอดความรู้คู่เทคโนโลยี นำความสมบูรณ์คืนให้ดิน” และมีแผนที่จะพัฒนาต่อเนื่อง ดังนี้ 1) ปรับปรุงพื้นที่จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ได้แก่ เครื่องผสมปุ๋ยอัดเม็ด เครื่องสับย่อย รถยนต์บริการ 2) เพิ่มสมาชิกโดยดึงเกษตรกรรุ่นใหม่ YSF เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา 3) ขยายเครือข่ายเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้มากกว่า 1 กลุ่มต่อปี โดยขยายครอบคลุมทุกตำบล 4) เพิ่มทุนโดยการระดมหุ้น 5) เพิ่มสูตรปุ๋ยให้มีความหลากหลายทุกชนิดพืช 6) ขยายการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และ 7) การรับรองมาตรฐานโดยให้ได้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยมีแบรนด์สินค้าภายในปี 2566 จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกษตรกรมีความพึงพอใจมาก ขอขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่นำโครงการดีๆ มาช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสถานการณ์โควิด 19 โดยเฉพาะพืชปาล์มน้ำมัน ซึ่งใช้ปุ๋ยปริมาณมากในการผลิต  โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก ดาบตำรวจสมนึก กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว